บทความข่าวสารไอที

จอพกพา (Portable Monitor) ต่างจากจอคอมทั่วไปยังไง

จอพกพา (Portable Monitor) ต่างจากจอคอมทั่วไปยังไง

จอคอม เป็นอีกส่วนที่สำคัญของระบบคอมพิวเตอร์ เพราะหากไม่มีจอแสดงผล เราจะไม่สามารถมองเห็นข้อมูลหรือภาพต่าง ๆ ได้ ในยุคปัจจุบันที่การทำงานไม่จำกัดอยู่แค่ในสำนักงานหรือที่โต๊ะทำงาน การใช้จอพกพาจึงกลายเป็นสิ่งสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่เดินทางบ่อย หรือชอบทำงานนอกสถานที่

 

จอพกพา คืออะไร ?

จอพกพา (Portable Monitor) คือ จอแสดงผลที่ออกแบบมาเพื่อพกพาสะดวก มีขนาดให้เลือกหลากหลาย เช่น 14 นิ้ว , 15.6 นิ้ว , 16 นิ้ว หรือใหญ่กว่านั้น โดยเน้นที่ความบาง น้ำหนักเบา และการใช้งานที่คล่องตัว มาพร้อมพอร์ตเชื่อมต่อที่รองรับการใช้งานกับโน้ตบุ๊ค คอมพิวเตอร์ และเครื่องเกมคอนโซล นอกจากนี้ บางรุ่นยังรองรับการเชื่อมต่อแบบไร้สาย เพื่อลดความยุ่งยากของสายเชื่อมต่อ และมาพร้อมฟีเจอร์เสริมอย่างหน้าจอสัมผัส หรือการรองรับปากกา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานให้หลากหลายมากขึ้น

 

จอพกพาต่างจากจอคอมทั่วไปอย่างไร

จอพกพา จะมีการใช้งานที่คล้ายกับจอคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะทั่วไป แต่ก็มีข้อได้เปรียบในด้านขนาดที่เล็กกว่า บางกว่า น้ำหนักเบา และสะดวกต่อการพกพา อีกทั้งยังใช้พลังงานต่ำ โดยสามารถเชื่อมต่อผ่านสาย USB Type-C เพียงเส้นเดียว เพื่อแสดงผลจากโน้ตบุ๊ค สมาร์ทโฟน หรือ iPad บางรุ่นได้ทันที

 

ในขณะที่จอคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะมักต้องใช้ไฟฟ้าผ่านการเสียบปลั๊ก พร้อมทั้งเชื่อมต่อสายสัญญาณเพิ่มเติมเพื่อใช้งาน อีกทั้งยังมีการใช้พลังงานที่สูงกว่า และมีน้ำหนักมาก ทำให้การเคลื่อนย้ายไม่สะดวกเท่ากับจอพกพา

 

      • ขนาด Display Size

จอภาพแบบพกพา หรือ Portable Monitor มีขนาดเล็ก และออกแบบมาเพื่อให้พกพาสะดวก โดยมักใช้งานร่วมกับโน้ตบุ๊ค ซึ่งในปัจจุบัน จอพกพาได้มีให้เลือกหลากหลายขนาด ตั้งแต่ 13.3 นิ้ว ไปถึง 17 นิ้ว หรือใหญ่กว่านั้น ขึ้นอยู่กับความต้องการพื้นที่แสดงผลและความละเอียดที่เหมาะสม โดยจะมีตั้งแต่ระดับ HD ไปถึง 4K UHD โดยทั่วไป ผู้ใช้งานมักนิยมเลือกจอพกพาที่มีขนาดเท่ากับจอโน้ตบุ๊ค เพื่อให้การทำงานลื่นไหล สัดส่วนการแสดงผลและขนาดตัวอักษรตรงกัน ไม่ผิดเพี้ยน

 

      • การใช้งาน

สำหรับจอพกพา ควรเน้นความสะดวกในการพกพาและใช้งานง่าย โดยสามารถใช้งานได้ผ่านสายเพียงเส้นเดียวเท่านั้น เนื่องจากโน้ตบุ๊ครุ่นใหม่ส่วนใหญ่มักมาพร้อมพอร์ต USB Type-C หรือ Thunderbolt ที่รองรับการแสดงผล อย่างไรก็ตาม ควรตรวจสอบว่าเครื่องรองรับเทคโนโลยี DisplayPort ALT-Mode หรือไม่ เพราะหากพอร์ต USB Type-C รองรับเฉพาะการถ่ายโอนข้อมูล (Transfer Data) จะไม่สามารถใช้งานแสดงผลได้ ในกรณีนี้อาจต้องใช้พอร์ต HDMI แทน ทั้งนี้ จอพกพาบางรุ่นจะมีเฉพาะอินเทอร์เฟซ USB Type-C เท่านั้น ซึ่งอาจไม่สามารถใช้งานร่วมกับพอร์ต HDMI ได้

 

      • การเชื่อมต่อ

โดยทั่วไป จอพกพาแทบจะทุกแบรนด์มักมาพร้อมกับพอร์ต USB Type-C และบางรุ่นยังรองรับเทคโนโลยี Thunderbolt อีกด้วย จอคอมพิวเตอร์แบบพกพาส่วนใหญ่มักใช้สาย Type-C เพียงเส้นเดียวในการเชื่อมต่อ และพร้อมใช้งานได้ทันที นอกจากนี้ หลายรุ่นยังมี USB HUB ในตัวอีกด้วย เช่น USB Type-A หรือ USB Type-C อย่างน้อยหนึ่งพอร์ต เพื่อเพิ่มความสะดวกในการเชื่อมต่ออุปกรณ์อื่น ๆ เนื่องจากการใช้งานจอภาพอาจทำให้เสียพอร์ต USB Type-C ไป 1 ช่อง นั่นเอง

 

นอกจากนี้ จอบางยี่ห้อยังมีพอร์ตรับสัญญาณอื่น ๆ เช่น HDMI หรือ Mini-HDMI เพื่อรองรับอุปกรณ์ที่ไม่มีพอร์ต USB Type-C หรือไม่รองรับการเชื่อมต่อผ่านพอร์ตดังกล่าว ซึ่งการใช้งานผ่าน HDMI นั้นจำเป็นต้องเชื่อมต่อสาย USB เพิ่มเติมสำหรับจ่ายไฟให้กับจอภาพ โดยสามารถต่อสาย USB เข้ากับพอร์ต USB ของโน้ตบุ๊คได้ หากพอร์ตนั้นจ่ายไฟเพียงพอ แต่หากจอกระพริบ อาจหมายความว่าไฟเลี้ยงไม่เพียงพอ ในกรณีนี้ควรใช้ Adapter สำหรับชาร์จไฟเสียบปลั๊กเพื่อใช้งานได้เช่นกัน

 

จอพกพากับฟีเจอร์ที่น่าสนใจ

จอพกพา ไม่ได้มีดีแค่ความสะดวกในการพกพาเท่านั้น แต่ยังมาพร้อมกับคุณสมบัติที่น่าสนใจอีกมากมาย โดยเฉพาะในรุ่นใหม่ ๆ ที่มักเพิ่มฟีเจอร์หรือความสามารถใหม่ ๆ เพื่อการใช้งานที่หลากหลายมากขึ้น ดังนี้

 

      • Touch Screen

จอบางรุ่นมาพร้อมระบบสัมผัส ซึ่งช่วยเพิ่มความสะดวกในการใช้งานโปรแกรม หรือฟีเจอร์บางอย่างบนระบบปฏิบัติการ Windows หรือ Android ได้มากขึ้น นอกจากนี้ จอพกพารุ่นระดับสูงบางรุ่นยังรองรับการใช้งานร่วมกับปากกา Digital Pen อีกด้วย แต่สำหรับ Apple OS มักไม่รองรับฟีเจอร์ Touchscreen

 

      • ลำโพง (Speaker)

Portable Monitor หลายรุ่นมาพร้อมลำโพงในตัว ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นลำโพงกำลังขับต่ำประมาณ 2 – 5 วัตต์ แม้เสียงที่ได้อาจไม่ดังเท่าลำโพงขนาดใหญ่ แต่ก็เพียงพอสำหรับการใช้งานทั่วไปต่อการเล่นเกมพกพา หรือดูวิดีโอสั้น ๆ

 

      • แบตเตอรี่ในตัว

Portable Monitor หลายรุ่นมักมาพร้อมกับแบตเตอรี่ในตัว ซึ่งสามารถใช้เป็นพลังงานสำรองสำหรับอุปกรณ์พกพา เช่น สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต ซึ่งการเพิ่มแบตเตอรี่ทำให้น้ำหนักของจอเพิ่มขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ บางรุ่นอาจไม่รองรับการใช้พลังงานจากพอร์ต USB โดยตรง จำเป็นต้องพกอะแดปเตอร์สำหรับจอเพิ่มเติมอีกชิ้น ดังนั้น หากเลือกซื้อรุ่นที่มีแบตเตอรี่ในตัว ควรเลือกแบบที่มีความจุแบตเตอรี่สูง เพื่อให้ใช้งานได้นานขึ้น และลดความถี่ในการชาร์จไฟ

 

      • พับเก็บได้ (Foldable)

จอพกพาสมัยใหม่ สามารถพับได้ ถือเป็นฟีเจอร์ที่ทันสมัยและสะดวกสบาย เพราะเมื่อพับแล้วสามารถพกพาได้อย่างคล่องตัวเหมือนโน้ตบุ๊ค และเมื่อกางออกจะได้พื้นที่การใช้งานที่กว้างขวางมากขึ้น แต่ราคาก็อาจสูงตามไปด้วยเช่นกัน

 

วิธีการเลือกซื้อจอพกพา

1. ขนาดหน้าจอที่เหมาะ

ขนาดของหน้าจอพกพาควรมีขนาดใกล้เคียงกับจอของโน้ตบุ๊คที่ใช้งานอยู่ เพื่อความสะดวกในการใช้งานร่วมกัน โดยไม่ใหญ่หรือไม่เล็กเกินไป นอกจากนี้ยังช่วยให้การพกพาสะดวกขึ้นอีกด้วย หากต้องการใช้งานกับเครื่องเกมคอนโซลหรือสมาร์ทโฟนเพื่อความบันเทิงหรือการเล่นเกม ขนาดของจอพกพาขึ้นอยู่กับความชอบส่วนบุคคล แต่ควรคำนึงถึงความสะดวกในการพกพา หากจอใหญ่เกินไปอาจทำให้ไม่สะดวกในการใส่กระเป๋าหรือเพิ่มภาระในการขนย้าย อย่างไรก็ตาม หากมีการเลือกกระเป๋าที่พอเหมาะ หรือสามารถวางจอไว้ในที่ปลอดภัยระหว่างเดินทางก็สามารถสนุกกับการเล่นเกม ดูหนัง หรือชมซีรีส์ได้เต็มอรรถรส

 

2. ความละเอียด

หนึ่งในสิ่งที่ควรคำนึงถึงหากซื้อจอพกพา คือความละเอียดของหน้าจอ ซึ่งมีผลต่อการใช้งานและประสิทธิภาพต่าง ๆ อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานกับจอทีวี คอมพิวเตอร์ หรือโน้ตบุ๊ค สำหรับการเล่นเกม ความละเอียด Full HD (FHD) ก็เพียงพอแล้ว แต่หากต้องการคุณภาพที่สูงขึ้น สามารถเลือกความละเอียดที่มากกว่านี้ได้ ขึ้นอยู่กับสเปคของคอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ๊คที่ใช้ว่ารองรับได้แค่ไหน สำหรับการทำงานทั่วไป ความละเอียดระดับ FHD ก็ถือว่าเพียงพอ หากใครที่ต้องการจอพกพาเพื่อทำงานกราฟิก ตัดต่อ หรือเกลี่ยสี ควรเลือกความละเอียดระดับ 2K หรือ 4K ขึ้นไป เพื่อให้ได้รายละเอียดที่คมชัดและแม่นยำในการทำงานมากขึ้น

 

3. น้ำหนักและการพกพา

การเลือกจอพกพา ควรคำนึงถึงน้ำหนักที่เหมาะสมสำหรับการพกพา ซึ่งควรเลือกจอที่บางและเบา เพื่อความสะดวกในการพกพา หากจอมีสเปคที่ดี แต่หนักเกินไป การพกพาอาจทำให้ลำบาก โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องถือจอตลอดเวลาในกระเป๋า การแบกจอนาน ๆ อาจทำให้เกิดความเมื่อยล้าได้ง่าย

 

4. แบตเตอรี่

การนำจอพกพาไปข้างนอก ควรเลือกจอที่มีพลังงานที่เพียงพอสำหรับการใช้งาน ซึ่งบางรุ่นจะมาพร้อมสาย USB ที่สามารถเสียบและดึงพลังงานจากโน้ตบุ๊คหรือคอมพิวเตอร์ได้ทันที แต่บางรุ่นจะมีแบตเตอรี่ในตัว ซึ่งข้อดีของรุ่นนี้คือไม่ดึงพลังงานจากอุปกรณ์ที่ใช้งาน แต่ข้อเสียคือ หากแบตเตอรี่มีน้อยเกินไปจะทำให้ใช้งานได้ไม่นาน ดังนั้น ควรเลือกจอที่มีแบตเตอรี่ขนาด 5000 mAh ขึ้นไป เพื่อให้สามารถใช้งานได้ยาวนานขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำงานที่คาเฟ่ หรือเล่นเกมนอกสถานที่

 

5. รูปแบบการตั้งของหน้าจอ

แม้จะเป็นเรื่องที่หลายคนอาจมองข้าม แต่การปรับตำแหน่งของจอพกพาถือเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับการใช้งาน โดยจอคอมพิวเตอร์หลายรุ่นมักมาพร้อมกับฐานที่สามารถปรับได้ทั้งการเงย หรือหมุนซ้าย-ขวา ซึ่งบางรุ่นอาจดีกว่านี้ โดยสามารถปรับความสูงและหมุนในแนวนอนได้ด้วย สำหรับจอพกพานี้ แม้จะไม่มีฐานมาให้ แต่ก็มีการออกแบบให้ด้านหลังมีฐานตั้งจอที่ช่วยปรับระดับสายตาของเราให้พอดีกับหน้าจอ บางรุ่นสามารถติดกับฝาพับโน้ตบุ๊คเพื่อให้ระดับสายตาอยู่ในระดับเดียวกัน บางรุ่นสามารถปรับความชันของฐานเพื่อให้เข้ากับมุมมองที่ดีที่สุด หรือแม้แต่การวางจอในแนวตั้งเพื่อให้ผู้ใช้สามารถดูข้อมูลได้มากขึ้น ซึ่งเหมาะกับบางสายงานที่ต้องการการแสดงผลในแนวตั้ง

 

จอพกพาเหมาะสำหรับใคร

ผู้ที่ต้องเดินทางบ่อย และต้องการใช้พื้นที่แสดงผลของจอเยอะ

จอพกพา (Portable Monitor) ต่างจากจอคอมทั่วไปยังไง

 

ผู้ที่ชื่นชอบการเล่นเกมจากเครื่องคอนโซล

จอพกพา (Portable Monitor) ต่างจากจอคอมทั่วไปยังไง

 

ผู้ที่ใช้สมาร์ทโฟนเป็นหลัก

จอพกพา (Portable Monitor) ต่างจากจอคอมทั่วไปยังไง

 

สรุป

จอพกพา เป็นจอภาพที่มีลักษณะบางและน้ำหนักเบา เหมาะสำหรับการใช้งานเป็นจอเสริมสำหรับผู้ที่ชอบเดินทางบ่อย หรือชอบทำงานนอกสถานที่ เพราะสามารถพกพาใส่กระเป๋าได้สะดวก อีกทั้งยังใช้งานง่าย เพียงแค่เชื่อมต่อสายเดียว ซึ่งต่างจากจอคอมพิวเตอร์ทั่วไปที่ต้องตั้งอยู่บนโต๊ะ และเชื่อมต่อกับไฟฟ้า โดยจอพกพาจะมีขนาดตั้งแต่ 20 นิ้วขึ้นไป ซึ่งทำให้ได้พื้นที่การแสดงผลที่กว้างขวางมากขึ้น

 

* เนื้อหาในบทความอาจมีผิดพลาดได้ โปรดตรวจสอบข้อมูลใหม่อีกครั้ง