RAM ถือเป็นอีกหนึ่งส่วนประกอบของคอมพิวเตอร์ เพราะเป็นหน่วยความจำที่มีความเร็วสูงรองลงมาจากแคลชของ CPU สามารถจัดเก็บโปรแกรมและข้อมูลการทำงาน รวมถึงระบบปฏิบัติการอย่างแอพพลิเคชั่น ไฟล์ รูปภาพ และวิดีโอ เพื่อให้คอมพิวเตอร์เข้าถึงข้อมูลได้รวดเร็วโดยที่ไม่ต้องอ่านข้อมูลจากฮาร์ดดิสก์ และในบทความนี้เราจะมาพูดถึง RAM ที่หลาย ๆ คนมักเข้าใจผิดและหลงเชื่อ ให้ได้ทำความเข้าใจกันใหม่
เรื่องที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับ RAM
1. ไม่สามารถใส่ RAM ที่ขนาดต่างกันได้
ความจริงแล้ว เราสามารถใส่ RAM คนละยี่ห้อ คนละขนาด หรือแม้แต่ความเร็วที่ต่างกันได้ แต่เพราะ RAM นั้นไม่ได้ทำงานแยกกันอย่างอิสระ หากมี RAM มากกว่าหนึ่งตัวในระบบก็จะทำงานประสานร่วมกัน ซึ่งแรมที่มีสเปก คุณสมบัติ แรงดันไฟ และความเร็วในการทำงานเหมือนกัน จะสามารถทำงานร่วมกันได้ดีที่สุดก็ต่อเมื่อใช้ RAM รุ่นเดียวกัน ยี่ห้อเดียวกันเท่านั้น
2. ต้องใช้ RAM เป็นเลขคู่เท่านั้น
สำหรับความเชื่อที่ว่า ต้องใช้ RAM ที่เป็นเลขคู่เท่านั้น ความจริงคือเราสามารถเลือกใส่ได้ทั้งเลขคู่แล้วก็เลขคี่ การใส่ RAM 3 ตัว หรือ 5 ตัว ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้ แต่แค่จะมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพตรงที่ หากเราใส่ RAM เป็นเลขคู่ จะทำงานในโหมด Dual-Channel ซึ่งเป็นการทำงานที่มีประสิทธิภาพ แต่ในกรณีที่เป็นเลขคี่ จะทำงานในโหมด Single-Channel แทน ซึ่งก็จะมีประสิทธิภาพที่ต่ำกว่า
3. การเคลียร์ RAM จะช่วยเพิ่มความเร็วได้
ความจริงหน้าที่ของ RAM นั้นไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เป็นพื้นที่ว่าง แต่เป็นพื้นที่ที่ระบบปฏิบัติการ และโปรแกรมต่าง ๆ จำเป็นต้องใช้เก็บข้อมูลที่จำเป็นต่อการทำงาน การลบข้อมูลเหล่านั้นออก บอกเลยว่าเสียเวลา ทั้งระบบที่ต้องลบ แล้วต้องมาบรรจุข้อมูลกลับเข้าไปใหม่ ทางแก้ของปัญหานี้คือ ต้องเพิ่มขนาดของ RAM เข้าระบบ การใช้พวกโปรแกรมหรือแอพในการล้างข้อมูลใน RAM ไม่ได้ช่วยอะไร มีแต่จะทำให้เสียเวลาเปล่า ดีไม่ดีในโปรแกรมเหล่านั้นอาจมีมัลแวร์แฝงเข้ามาด้วยก็ได้
4. คอมพิวเตอร์ที่ใช้มี RAM เพียงพอแล้ว
หากวัดที่ความต้องการของระบบปฏิบัติการ Windows แรม 4 GB คือขนาดขั้นต่ำที่ระบบสามารถทำงานได้ และแรม 8 GB คือขนาดที่แนะนำสำหรับใช้งานทั่วไป แต่หากทำพวกกราฟิก ตัดต่อเสียง ตัดต่อวิดีโอ หรือเล่นเกม ที่โปรแกรมใช้ทรัพยากรสูง RAM ขนาด 16 GB สามารถตอบโจทย์ได้
5. RAM ยิ่งเยอะ คอมพิวเตอร์ยิ่งเร็ว
สิ่งที่มีผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานของ RAM คือความเร็ว ยิ่งมีค่าของตัวเลขสูงเท่าไหร่ การทำงานของ RAM ก็จะยิ่งเร็วขึ้นด้วย ซึ่งแรมธรรมดาทั่วไปความเร็วจะอยู่ที่ประมาณ 2,400 MHz – 3,000 MHz ในขณะที่แรมที่มีราคาสูงก็อาจมีความเร็วสูงถึง 5,333 MHz เลยทีเดียว และอีกสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ นั่นก็คือการใช้ RAM ที่มีความเร็วที่ต่างกัน เพราะการทำงานจะเร็วเท่ากับตัวที่ทำงานช้า เช่น ใส่แรม 2,400 MHz คู่กับ 3,600 MHz การทำงานจะอยู่ที่ความเร็ว 2,400 MHz ทั้งสองตัวเลย
แนวทางการเลือกซื้อ RAM
สำหรับใครที่อยากอัพเกรด RAM แต่ไม่รู้ว่าจะเลือกซื้อยังไง ลองมาทำความเข้าใจแนวทางการเลือกซื้อ และอ่านสเปก RAM นี้กันดูก่อน
1. ฟอร์มแฟคเตอร์ของแรม (RAM Form Factors)
RAM จะมีฟอร์มแฟคเตอร์อยู่ 2 รูปแบบหลัก ๆ ซึ่งก็คือ DIMM และ SO-DIMM โดยจะมีขนาดที่แตกต่างกัน จะไม่สามารถใช้งานแทนกันได้ ส่วนใหญ่คอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะจะใช้ RAM แบบ DIMM ส่วนโน้ตบุ๊คจะใช้ RAM แบบ SO-DIMM
2. รุ่นของแรม (RAM Generations)
ปัจจุบัน RAM ได้ออกมาแล้วถึง 5 เวอร์ชั่น ได้แก่ DDR , DDR2 , DDR3 , DDR4 และ DDR5 เป็นต้น ซึ่ง RAM จะไม่เหมือนกับ PCIe , USB หรือแม้แต่ HDMI ที่สามารถทำงานแบบ Backward / Forward Compatibility ได้ ดังตัวอย่างดังนี้
-
- ไม่สามารถนำแรม DDR4 ไปเสียบใน Motherboard ที่รองรับแรม DDR5 ได้
- แรม DDR5 ไม่สามารถเสียบใน Motherboard ที่รองรับแรม DDR4 ได้
3. ความจุและความเร็วของแรม (RAM Speed and Capacity)
หากเข้าเว็บไซต์ออนไลน์เพื่อเลือกซื้อ RAM จะเห็นว่ามีตัวเลขอยู่หลายชุด สำหรับมือใหม่ที่เห็นอาจจะงง ๆ แต่โดยส่วนใหญ่เราจะสนใจเพียงแค่สองค่าหลัก ๆ นั่นก็คือความจุ และความเร็วของ RAM นั่นเอง
4. ค่าการตอบสนองของแรม (RAM CAS Latency)
หากอ่านรายละเอียดของสเปก RAM จะมีค่า Latency ระบุไว้ด้วย เช่น CORSAIR VENGEANCE RGB. DDR5 6200 MHz จะมีค่า Latency อยู่ที่ 36 – 39 – 39 – 76 ซึ่งตัวเลขนี้จะเรียกค่า CAS Latency เป็นเวลาที่ระบบส่งคำร้องเรียกข้อมูลจาก RAM
5. จำนวนช่องใส่แรม (Number of RAM Slots)
ก่อนซื้อ RAM อย่าลืมตรวจเช็คด้วยว่า คอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ๊คมีช่องสำหรับใส่ RAM ไหม ถ้ามี มีกี่ช่อง เพราะในคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่จะมีให้ 2 – 4 ช่อง ส่วนในโน้ตบุ๊คจะมี 1 – 2 ช่อง แต่ในรุ่นที่บางเป็นพิเศษอาจไม่มีเลย เพราะทางฝั่งผู้ผลิตจะฝัง RAM ไว้บน Motherboard โดยตรง
แนะนำวิธีการติดตั้ง RAM ที่ถูกต้อง
- ติดตั้ง RAM แบบ 1 ตัว ในแถวแรก จะเป็นแบบ Single Channel
- ติดตั้ง RAM แบบ 2 ตัว ในแถวแรกและท้ายสุด จะเป็นแบบ Dual Channel
- ติดตั้ง RAM แบบ 4 ตัว แบบสลับช่องจากแถวแรก จะเป็นแบบ Quad Channel
- ติดตั้ง RAM แบบ 6 ตัว อย่างละ 3 แถว จะเป็นแบบ Triple-Channel
- ติดตั้ง RAM แบบ 8 ตัว ทุกช่องเรียงกัน จะเป็นแบบ Quad Channel
สรุป
สุดท้าย RAM ที่ความเร็วสูงมักมีราคาที่แพงกว่า RAM ที่ความเร็วปกติมาก แม้ว่า RAM ความเร็วสูงจะมีประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีกว่าก็จริง แต่หากงบประมาณนั้นมีจำกัด แนะนำให้พิจารณาดูด้วยว่า การใช้งานของเรานั้น การเพิ่มความจุ RAM ถือเป็นการจ่ายเงินที่คุ้มค่ากว่าการเพิ่มความเร็ว RAM หรือเปล่า
* เนื้อหาในบทความอาจมีผิดพลาดได้ โปรดตรวจสอบข้อมูลใหม่อีกครั้ง