ในเรื่องของ Switch Hub Router ปัจจุบันในยุคของโลกดิจิทัล เครือข่ายคอมพิวเตอร์ได้กลายมาเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของธุรกิจ การศึกษา และบ้านเรือนกันหมดแล้ว ซึ่งเครือข่ายคอมพิวเตอร์จะช่วยให้คอมพิวเตอร์หลายเครื่องนั้นสามารถสื่อสาร และแบ่งปันทรัพยากรได้ เช่น ข้อมูล แอพพลิเคชั่น หรือฮาร์ดแวร์ เป็นต้น โดยบทความนี้เราจะมาพูดถึงอุปกรณ์ทั้งสามตัวนี้กันว่ามีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง
การทำงานของ Switch
Switch เป็นอุปกรณ์ที่มีลักษณะเป็นกล่องเล็ก ๆ จะประกอบด้วยพอร์ตเชื่อมต่อหลาย ๆ พอร์ต ซึ่งมีหน้าที่เป็นศูนย์กลางให้กับอุปกรณ์อื่น ๆ เช่น คอมพิวเตอร์ , อุปกรณ์ POS , Printer , IP Phone หรือ Server โดยทำการเชื่อมต่อผ่านสายแลนอีกที เพื่อส่งผ่านข้อมูลไปยังระบบเครือข่าย หรือจะให้พูดง่าย ๆ เลยก็คือ Switch จะเป็นตัวที่กระจายสายแลนไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ของอาคาร เพื่อให้อุปกรณ์อื่น ๆ นั้นสามารถเสียบเพื่อเชื่อมต่อเข้าสู่ระบบเครือข่าย หรืออินเทอร์เน็ตได้นั่นเอง
หน้าที่หลัก ๆ โดยรวมของสวิตช์จะประกอบด้วยดังนี้
- รับ-ส่งผ่านข้อมูลระหว่างอุปกรณ์ต่าง ๆ ในระบบเครือข่ายให้สื่อสารกันได้
- เพิ่มจำนวนพอร์ตให้กับระบบเครือข่ายที่มีอยู่แล้ว เพื่อรองรับจำนวนการเชื่อมต่ออุปกรณ์ที่มากขึ้น
- คอยเก็บข้อมูลของอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อ เพื่อจัดระเบียบและตรวจสอบข้อมูลภายหลัง
- สามารถใช้เป็นสะพานเพื่อเชื่อมต่อระบบ Network จำนวน 2 เครือข่าย เข้าหากันได้
Switch Layer 2 กับ Switch Layer 3 คืออะไร ?
รู้หรือไม่ว่า Switch นั้นสามารถแบ่งเป็นแบบ Layer 2 และ Layer 3 ได้ แล้วรู้หรือไม่ว่าเลเยอร์ในแต่ละแบบนั้นคืออะไร แตกต่างกันอย่างไร และมีข้อดี-ข้อเสียอะไรบ้าง ตามมาดูพร้อม ๆ กันได้เลย
1. Switch Layer 2
Switch Layer 2 จะใช้เรียกสวิตช์ที่เป็นโมเดลแบบ OSI (Open System Interconnect) ซึ่งมีหน้าที่ในการเชื่อมต่อสื่อสารภายในระบบเครือข่ายเข้าหากันเป็นหลัก โดยมีหลักการทำงานคือเชื่อมต่ออุปกรณ์ และ MAC Address เข้ากับระบบเครือข่ายอย่างเป็นระบบ
ข้อดีของ Switch Layer 2 : สามารถส่งผ่านข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและเรียบง่ายผ่าน MAC Address โดยไม่จำเป็นต้องตั้งค่าให้ยุ่งยาก สามารถติดตั้งง่าย รวดเร็ว แถมยังมีราคาที่ถูก ไม่ว่าจะเป็นตัวอุปกรณ์หรือค่าดำเนินการ สามารถทำงานได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย
2. Switch Layer 3
Switch Layer 3 มีหน้าที่ในการทำงานที่พิเศษและหลากหลาย นอกเหนือจากการเป็นแค่ Switch ธรรมดา โดยคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อต้องมี Default Gateway สำหรับเชื่อมต่อ Layer 3 กับเครือข่ายอื่น ๆ ซึ่งสวิตช์ประเภทนี้จะช่วยให้ User สามารถผสมผสานฟังก์ชั่นของ Switch และ Router เข้าด้วยกัน โดยเชื่อมอุปกรณ์ภายในเครือข่ายเข้าด้วยกัน และเชื่อมกับเครือข่ายอื่น ๆ ที่ตั้งค่าไว้ และรองรับการ Routing Protocols ซึ่งจะช่วยตรวจสอบข้อมูลที่ไหลเวียนอยู่ในระบบ พร้อมทั้งบริหารจัดการได้อย่างครอบคลุมทั่วถึง
ข้อดีของ Switch Layer 3 : ช่วยให้สื่อสารข้ามเครือข่ายได้ และสามารถตั้งค่าความปลอดภัยหรือ Security ได้เป็นระบบ แถมยังลดค่า Traffic ที่หนาแน่น อีกทั้งยังง่ายต่อการ Config ค่าสำหรับ VLANs และทำงานได้อย่างรวดเร็ว เพราะไม่ต้องทำผ่านเราเตอร์อีกที
Switch ต่างจาก Hub และ Router อย่างไร
Switch ต่างจาก Hub อย่างไร
Hub อุปกรณ์ที่ถูกคิดค้นขึ้นมาก่อน Switch ทำหน้าที่แทบจะเหมือนกันทุกอย่าง โดยฮับจะสามารถรับ-ส่งของมูลระหว่างอุปกรณ์ได้เช่นกัน แต่จะไม่สามารถรับรู้ได้ว่าอุปกรณ์ตัวไหนเชื่อมกับพอร์ตอันไหน ซึ่งหมายความว่า เวลาส่งข้อมูลแต่ละทีจะต้องส่งผ่านไปยังอุปกรณ์ทุกตัวที่เชื่อมต่ออยู่นั่นเอง
Hub เป็นอุปกรณ์ที่เหมาะกับเครือข่ายเล็ก ๆ ที่มี Traffic ไม่เยอะ แต่ถึงอย่างนี้ก็ยังไม่ค่อยเป็นที่นิยมเท่าไหร่ในปัจจุบัน เพราะ Switch รุ่นที่ราคาถูก ๆ ก็มีวางขายทั่วไปหลากหลายแบรนด์ ซึ่งให้ประสิทธิภาพการจัดสรร Traffic ที่ดีกว่าเยอะ
Switch ต่างจาก Router อย่างไร
Switch ถูกออกแบบมาให้ทำงานบน Network เครือข่ายเพียงอย่างเดียว ในขณะที่ Router จะสามารถส่งผ่านข้อมูลจากเครือข่ายหนึ่งไปยังอีกเครือข่ายหนึ่งได้ และเพราะเหตุนี้ การใช้งานทั่วไปจึงนิยมใช้ Router เพื่อทำหน้าที่เป็นฟังก์ชั่นส่วนกลางสำหรับส่งข้อมูลระหว่างระบบเครือข่ายกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตที่ซื้อแบบแพคเกจไว้ ซึ่งบางทีก็สามารถทำหน้าที่แทนกันได้ ในบางกรณี Router จะสามารถทำหน้าที่แทน Switch ได้ แต่หากในทางปฏิบัติจริงแล้ว Switch จะทำหน้าที่ขยายจำนวนพอร์ตของระบบเครือข่ายแห่งเดียว ในขณะที่ Router จะทำหน้าที่ในการส่งข้อมูลจากเครือข่ายหนึ่งไปยังอีกเครือข่ายหนึ่งเป็นหลัก
ฟีเจอร์และข้อได้เปรียบของ Switch
1. เพิ่มจำนวนอุปกรณ์เชื่อมต่อ
หากติดตั้ง Switch เข้ากับระบบเครือข่ายแล้ว สิ่งที่จะได้อย่างแรกเลยคือ จำนวนพอร์ตแลนหลายพอร์ต (แล้วแต่รุ่น) ซึ่งแต่ละพอร์ตจะสามารถรองรับการเสียบเชื่อมต่ออุปกรณ์ที่ต้องการให้เชื่อมต่อ ดังนั้น จำนวนอุปกรณ์ที่สามารถใช้เชื่อมต่อในระบบ Network ก็จะเพิ่มขึ้นนั่นเอง
2. เร็วกว่าระบบไร้สาย Wi-Fi
อีกหนึ่งข้อดีในการใช้ Switch คือความเร็ว เพราะสวิตซ์รุ่นธรรมดาทั่วไป จะสามารถเชื่อมต่อด้วยความเร็วประมาณ 10 Gbps หรือมากกว่านั้น แต่สำหรับการเชื่อมต่อผ่าน Wi-Fi ความเร็วสูงสุดที่สามารถทำได้จะอยู่ที่ 6.9 Gbps และในทางปฏิบัตินั้น การเชื่อมต่อไร้สายแทบจะไม่สามารถได้ความเร็วเกินกว่า 1 Gbps ได้เลย
3. สามารถจัดเส้นทางหรือ Routed ได้
หากเชื่อมต่อและสั่งการส่งข้อมูลผ่านระบบไร้สายทั้งหมดแล้ว ข้อมูลจะถูกส่งไปยังอุปกรณ์ทุกตัวที่เชื่อมต่ออยู่ ก่อให้เกิด Traffic คอขวด ซึ่ง Hub , โมเดม หรือ Router ต่างก็มีขีดจำกัดในด้านนี้เช่นกัน แต่สำหรับ Switch จะมีความฉลาดกว่า เพราะสามารถจดจำค่า MAC Addresses ของอุปกรณ์ทั้งหมดที่ต่างกันได้ ดังนั้น Network Traffic แต่ละอันจะถูกส่งไปยังอุปกรณ์ผู้รับที่ถูกต้องทีเดียว แทนที่จะต้องส่งแบบ Broadcast ไปยังอุปกรณ์ทุก ๆ ตัว
4. มีความเสถียร
เป็นที่ทราบกันดีว่า การเชื่อมต่อผ่านสัญญาณ Wi-Fi นั้นอาจทำให้เกิดความไม่เสถียร หรือสัญญาณที่เชื่อมต่อไม่คงที่ได้ เพราะในบางครั้งตัวสัญญาณจะเดินทางผ่านกำแพง หรือวัตถุต่าง ๆ ก่อนถึงอุปกรณ์ และในปัจจุบัน หลายสถานที่ต่างก็จำเป็นต้องมีสัญญาณไวไฟ จึงอาจทำให้สถานที่ที่อยู่ใกล้กันนั้นเกิดการทับซ้อนของสัญญาณ ส่งผลให้อาจมีปัญหาในการเชื่อมต่อได้
5. เชื่อมต่อผ่านสายเคเบิล ปลอดภัยกว่า Wi-Fi
ระบบไร้สาย จะมีข้อเสียหลัก ๆ คือเรื่องของความปลอดภัย เพราะการกระจายข้อมูลผ่านทางอากาศย่อมมีความเสี่ยงต่อการถูกโจมตี พาสเวิร์ดอาจโดนแฮค ส่งผลให้ผู้ที่ไม่ประสงค์ดีสามารถทำการเจาะเข้ามาในระบบเครือข่ายได้ เพื่อลดความเสี่ยงในส่วนนี้ลง การใช้ Switch เป็นอุปกรณ์หลักในการเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์เข้าด้วยกัน ทางเดียวที่ระบบจะถูกเจาะได้คือ ผู้โจมตีจะต้องเข้าถึงสถานที่จริงของเราเท่านั้น
Switch ควรใช้รุ่นไหนดี
การตัดสินใจสำหรับการเลือกซื้อโมเดล ควรตรวจสอบความต้องการของ User ก่อนว่ามี Requirement ยังไงบ้าง โดยให้คำนึงถึงปัจจัยเหล่านี้
- จำนวนอุปกรณ์ที่ต้องนำมาเชื่อมต่อกับตัว Switch (ควรคำนึงถึงการใช้งานเผื่ออนาคตที่อาจมีจำนวน Device เพิ่มขึ้นด้วย)
- ตรวจสอบงบประมาณว่ามีงบที่สามารถใช้จ่ายกับสวิตช์เท่าไหร่
- ดูการใช้งานว่าจำเป็นต้องใช้ Managed หรือ Unmanaged Switch
- ดูชนิดของอุปกรณ์ที่ใช้เชื่อมต่อ Switch ว่าจำเป็นต้องใช้พลังงาน PoE ไหม
- ตรวจสอบ Bandwidth ของเครือข่ายที่สามารถรองรับการใช้งานได้ เพื่อเช็คว่าจำเป็นต้องอัพเกรดหรือไม่
จำนวนของพร์อตนั้น ขึ้นอยู่กับสเกลของพื้นที่ที่ใช้งาน อย่างหากใช้ในบ้านพักอาศัย รวมถึงองค์กรขนาดเล็กถึงกลาง (SMB) การใช้ Switch ขนาด 4 , 5 หรือ 8 พอร์ต ก็อาจเพียงพอต่อความต้องการแล้ว ในขณะที่องค์กรระดับ Enterprise หรือห้องเซิร์ฟเวอร์ขนาดใหญ่อาจต้องเลือกซื้อรุ่นขนาด 48 พอร์ตขึ้นไป
สรุป
ก็จบไปแล้วกับบทความ Switch Hub Router ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร เพราะเนื่องจากปัจจุบันเป็นยุคของดิจิทัล เครือข่ายคอมพิวเตอร์จึงได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของธุรกิจ การศึกษา หรือบ้านพักอาศัย เพราะสามารถสื่อสารและแบ่งปันทรัพยากรอย่างข้อมูล แอพพลิเคชั่น และฮาร์ดแวร์ ได้
* เนื้อหาในบทความอาจมีผิดพลาดได้ โปรดตรวจสอบข้อมูลใหม่อีกครั้ง