แรม DDR4 กับ DDR5 นับเป็นก้าวสำคัญที่นำพาคอมพิวเตอร์เข้าสู่ยุคใหม่ ด้วยความเร็วที่เหนือกว่า DDR4 อย่างชัดเจน ทำให้คอมพิวเตอร์ที่ใช้ DDR5 สามารถตอบสนองได้ดีขึ้น ทั้งการเล่นเกม และงานเฉพาะทางต่าง ๆ โดยแรมถือเป็นส่วนประกอบสำคัญของคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ค และอุปกรณ์พกพาอื่น ๆ อย่างสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต ซึ่งมีหน้าที่เก็บข้อมูลชั่วคราวจากพื้นที่เก็บข้อมูลอย่าง SSD หรือ HDD ก่อนส่งไปประมวลผลที่ CPU
แรม DDR คืออะไร ?
แรม DDR หรือ Double Data Rate RAM เป็นหน่วยความจำ SDRAM รุ่นพัฒนาที่มี Bandwidth และอัตราการรับ-ส่งข้อมูลที่สูงกว่า SDRAM แบบเดิม เนื่องจากสามารถถ่ายโอนข้อมูลได้ทั้งในช่วงขาขึ้นและขาลงของสัญญาณนาฬิกา ทำให้ไม่จำเป็นต้องเพิ่มความถี่ของสัญญาณนาฬิกาเพื่อเพิ่มอัตราการส่งข้อมูล ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือ ประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า จากเวอร์ชั่นก่อนหน้า โดยยังคงใช้ความถี่นาฬิกาเดิม DDR จะมีอัตราการทำงานอยู่ระหว่าง 266 ถึง 400 MT/s และมาพร้อมบัฟเฟอร์การดึงข้อมูลล่วงหน้าที่ 2 บิต
แรม DDR มีกี่ประเภท
ที่มีบทบาทในการช่วยให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น และเป็นอีกชิ้นส่วนของคอมพิวเตอร์ที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาตลอด ซึ่งในปัจจุบัน แรมที่ใช้งานกันอย่างแพร่หลายเรียกว่า DDR หรือ Double Data Rate ที่สามารถส่งข้อมูลได้เร็วกว่าหน่วยความจำ SDRAM รุ่นเก่าถึง 2 เท่า โดย DDR ยังถูกพัฒนาต่อเป็น 4 รุ่นหลัก ดังนี้
DDR2
DDR2 เป็นแรมประเภทแรกที่สามารถเสียบคู่กัน 2 ตัว เพื่อใช้งานแบบ Dual-Channel ได้ และช่วยเพิ่มหน่วยความจำของแรมในคอมพิวเตอร์ให้สูงมากขึ้นกว่าเดิม
DDR3
DDR3 มีประสิทธิภาพที่สูงกว่า DDR2 ถึง 2 เท่า ทั้งในด้านการเพิ่ม Bandwidth และความเร็วในการส่งข้อมูล แต่จุดเด่นสำคัญของ DDR3 คือการประหยัดพลังงานที่ใช้ไฟน้อยกว่า DDR2 มาก จึงเป็นประเภทแรมที่นิยมสำหรับใช้งานในโน้ตบุ๊คและอุปกรณ์พกพา
DDR4
DDR4 มีความเร็วเริ่มต้นที่ 1600 MT/s ซึ่งเทียบเท่ากับความเร็วสูงสุดของ DDR3 และสามารถเพิ่มขึ้นได้ถึง 3200 MT/s หรือสูงกว่านั้นหากทำการ Overclock และแม้ว่า DDR5 จะมีวางจำหน่ายแล้ว แต่ DDR4 ยังคงเป็นมาตรฐานหลักของแรมในปัจจุบัน ด้วยความเร็วที่เพียงพอกับการใช้งาน และตัวเลือกที่มีให้อย่างหลากหลาย
DDR5
DDR5 ถือเป็นว่าที่มาตรฐานใหม่ของแรมในอนาคต มาพร้อมประสิทธิภาพที่เหนือกว่าแรมรุ่นก่อนหน้าในทุกด้านอย่างก้าวกระโดด ไม่ว่าจะเป็นความเร็วเริ่มต้นที่สูงขึ้น สามารถเพิ่มความเร็วได้มากกว่าเดิมอย่างมหาศาล ใช้พลังงานน้อยลง และมีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่เทคโนโลยีนี้ยังค่อนข้างใหม่ ทำให้มีราคาสูง อีกทั้งการอัปเกรดใช้ DDR5 จำเป็นต้องเปลี่ยน Mainboard ใหม่ทั้งหมด แต่คาดว่าในเวลาไม่นาน DDR5 จะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ของวงการแรมและเทคโนโลยีอย่างแน่นอน
แรม DDR4 ใช้งานร่วมกับ DDR5 ได้ไหม
แรม DDR5 ไม่สามารถใช้งานร่วมกับแรม DDR4 ได้ เนื่องจากทั้งคู่ใช้ขนาดช่องเชื่อมต่อบนเมนบอร์ดที่แตกต่างกัน และตัว CPU ยังมีการรองรับที่ต่างกันด้วย สำหรับ Intel จะต้องใช้ CPU Gen 12th ขึ้นไป ในขณะที่ AMD รองรับตั้งแต่ CPU ซีรีส์ 7000 เป็นต้นไป ดังนั้น หากยังใช้แรม DDR4 อยู่ การเปลี่ยนมาใช้แรม DDR5 จำเป็นต้องเปลี่ยนทั้งเมนบอร์ดและ CPU ด้วย การอัปเกรดประเภทแรมจึงไม่ใช่เพียงแค่เปลี่ยนชิ้นส่วน แต่ยังต้องคำนึงถึงความเข้ากันได้ของฮาร์ดแวร์ทั้งหมดด้วย
แรม DDR4 กับ DDR5 แรงขนาดไหน
หากเทียบกันตรง ๆ ถือว่าเร็วกว่ากันเป็นเท่าตัวเลย โดย แรม DDR5 จะมีความเร็วในการส่งข้อมูล (BUS Speed) เริ่มต้นที่ 3200 MHz และสามารถเพิ่มขึ้นได้สูงสุดถึง 8400 MHz ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ในขณะที่ แรม DDR4 จะมีความเร็วสูงสุดเพียง 3200 MHz (ไม่นับการ Overclock) นอกจากความเร็วที่เพิ่มขึ้น แรม DDR5 ยังมีค่าหน่วงที่ต่ำลง ส่งผลให้การส่งข้อมูลมีความเสถียรและรวดเร็วมากขึ้น อีกทั้งยังมีฟีเจอร์พิเศษอย่าง On-Die ECC ที่ช่วยลดข้อผิดพลาดภายในแรม ซึ่งเกิดจากความเร็วในการส่งข้อมูลที่สูงขึ้น
RAM DDR5 เหมาะกับใคร
DDR5 มาพร้อมความเร็วในการโอนถ่ายข้อมูลที่ช่วยให้การใช้งานลื่นไหล ไม่มีสะดุด แต่อย่าลืมว่าความเร็วระดับนี้จำเป็นต้องใช้งานร่วมกับอุปกรณ์อื่น ๆ อย่างเมนบอร์ดหรือ CPU ร่วมด้วย แต่จะเร็วแค่แรมอย่างเดียวคงไม่ไหว ดังนั้น หากไม่ใช่เป็นเกมเมอร์ที่ต้องการประสบการณ์การเล่นเกมที่ราบรื่น หรือผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานด้านกราฟิก งานสามมิติ หรือตัดต่อวิดีโอที่ต้องจัดการไฟล์ขนาดใหญ่ แรมที่ใช้อยู่ตอนนี้ก็เพียงพอแล้ว เพราะความเร็วที่เพิ่มขึ้นจะเห็นผลชัดเจนในงานใหญ่ ๆ เช่น การโหลดไฟล์สำหรับงานภาพสามมิติ หรือเล่นเกมที่กราฟิกหนัก ๆ แต่หากไม่ได้ใช้งานในลักษณะนี้ เปลี่ยนไปก็เห็นผลที่ชัดเจนได้ยาก
RAM GDDR คืออะไร ทำงานอย่างไร
RAM GDDR (Graphics Double Data Rate) เป็นชนิดของหน่วยความจำที่ออกแบบมาเฉพาะสำหรับใช้งานด้านกราฟิก เช่น การ์ดจอในคอมพิวเตอร์หรือคอนโซลเกม โดยสามารถส่งข้อมูลด้วยความเร็วสูงกว่าแรมทั่วไป และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการประมวลผลกราฟิกและการแสดงผลภาพที่ซับซ้อน โดย RAM GDDR นั้นได้ถูกออกแบบมาให้เหมาะสำหรับข้อมูลกราฟิกที่การ์ดจอสร้างขึ้น มักเป็นข้อมูลที่มีขนาดใหญ่และมีโครงสร้างที่เรียบง่าย ส่งผลให้ใช้พลังงานต่ำ เกิดความร้อนน้อย และมี Bandwidth สูง อย่าง GDDR6X ที่มี Bandwidth ขนาดใหญ่ 19 – 21 Gbit/s
สรุป
แรม DDR4 กับ DDR5 ถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่สร้างความตื่นเต้นให้กับทั้งชาวเกมเมอร์และผู้ที่สนใจด้านคอมพิวเตอร์ ด้วยความเร็วที่สูงกว่ารุ่น DDR4 หลายเท่า รวมถึงการประหยัดพลังงาน และคุณสมบัติที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานคอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ๊คให้ลื่นไหลมากขึ้น ซึ่งสินค้าอาจมีราคาที่สูงเกินไป ผู้ใช้ควรพิจารณาถึงความต้องการในการใช้งานเพิ่มเติม เพื่อตัดสินใจจาก DDR4 ไปเป็น DDR5 เพราะไม่เพียงแต่ต้องเปลี่ยนแรมเท่านั้น แต่เมนบอร์ดและ CPU ที่ใช้เองก็ต้องรองรับแรมรุ่นใหม่นี้ด้วย
* เนื้อหาในบทความอาจมีผิดพลาดได้ โปรดตรวจสอบข้อมูลใหม่อีกครั้ง