บทความข่าวสารไอที

NAS Server Cloud ทำงานยังไง เลือกเก็บข้อมูลด้วยวิธีไหนดี ?

NAS Server Cloud ทำงานยังไง เลือกเก็บข้อมูลด้วยวิธีไหนดี ?

ปัจจุบัน ดิจิทัลได้เติบโตอย่างก้าวกระโดด การจะเก็บสำรองข้อมูลขนาดใหญ่ ลำพังแค่แฟลชไดร์ฟหรือฮาร์ดดิสก์พกพาคงไม่พอ หากต้องการทำไดร์ฟกลางเก็บข้อมูลให้คนในบ้านใช้ หรือศูนย์กลางข้อมูลให้พนักงานภายในบริษัทใช้ทำงาน ซึ่งตัวเลือกที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันจะมีด้วยกันอยู่ 3 อย่าง คือ NAS , Server และ Cloud ซึ่งแต่ละชนิดจะเหมาะกับการใช้งานแบบไหน และควรเลือกเก็บข้อมูลด้วยวิธีไหน มาเรียนรู้และทำความรู้จักให้มากขึ้นกัน

 

NAS ทำงานอย่างไร

หากเปรียบ NAS เหมือนอะไร ก็คงเหมือนคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งที่มีระบบปฏิบัติการของตัวเอง มีช่องสำหรับให้ผู้ใช้นำฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟหรืออุปกรณ์เก็บข้อมูลแบบ SSD มาเสียบ โดยหากมีขนาดเล็กอาจรองรับ HDD ได้เพียง 3 – 5 ตัว แต่หากเป็นขนาดใหญ่จะสามารถติดตั้งได้มากกว่านั้น ซึ่งฮาร์ดดิสก์จะทำการ RAID เพื่อเพิ่มความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูล แม้ว่า NAS จะสามารถนำฮาร์ดไดร์ฟแบบไหนมาติดตั้งก็ได้ แต่แนะนำให้เลือกฮาร์ดดิสก์รุ่นที่ถูกผลิตมาสำหรับตัว NAS โดยเฉพาะจะดีกว่า เพราะส่วนใหญ่จะเปิดใช้งานแบบ 24 ชั่วโมง

 

NAS สามารถทำงานแบบ Standalone ได้โดยไม่ต้องพึ่งคอมพิวเตอร์ นั่นก็เพราะมี CPU คอยประมวลผลในตัว และมีระบบปฏิบัติการของตัวเอง เพื่อจัดการกับไฟล์ คอยควบคุมการอ่าน-เขียนข้อมูล และดูสิทธิ์ในการเข้าถึงไฟล์ของผู้ใช้งาน ซึ่งการเชื่อมต่อ NAS เข้ากับระบบเครือข่ายสามารถทำได้ทั้งแบบผ่านสายแลนและแบบ Wi-Fi อีกทั้งยังสามารถตั้งค่าการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพื่อทำงานเสมือนเป็นคลาวด์ส่วนตัวได้อีกด้วย

 

Server ทำงานอย่างไร

การทำงานของ Server จะคล้าย ๆ กับ PC ที่มีส่วนประกอบไม่ต่างกัน โดยใน Server จะมีแผงวงจรหลัก (Mainboard) , หน่วยประมวลผลกลาง (CPU) , หน่วยความจำหลัก (RAM) และฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ (HDD) ซึ่งคอมพิวเตอร์ระดับ Server จะใช้ CPU ที่แรงกว่าคอมพิวเตอร์ปกติ โดยจะเน้นจำนวนและคอร์ของหน่วยประมวลผลกลางให้มากที่สุด เพื่อรองรับการประมวลผลแบบมัลติทาส์ก ผู้ใช้จำนวนมากที่เชื่อมต่อเข้า Server และชิ้นส่วนต่าง ๆ จะมีความทนสูง เพื่อรองรับการทำงานตลอด 24 ชั่วโมง หรือแบบทั้งวันทั้งคืนนั่นเอง

 

Cloud ทำงานอย่างไร

Cloud สามารถใช้ทำอะไรได้หลายอย่างมาก ๆ หนึ่งในนั้นคือการใช้เป็นพื้นที่จัดเก็บข้อมูลออนไลน์ได้ เช่น iCloud หรือ Google Drive เองก็เป็นระบบคลาวด์เช่นกัน สามารถนำ Cloud มาใช้ประโยชน์ได้ไม่ต่างจากการใช้งาน Server เช่น นำมาทำเซิร์ฟเวอร์เก็บอีเมล , เว็บเซิร์ฟเวอร์ , แอพพลิเคชั่นเซิร์ฟเวอร์ ฯลฯ เนื่องจาก Cloud อยู่บนอินเทอร์เน็ต ทำให้ผู้ใช้เข้าถึงไฟล์ได้จากทุก ๆ อุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ ซึ่งคลาวด์จะมีข้อดีคือ สามารถปรับเพิ่มหรือลดขนาดพื้นที่ได้ตลอดเวลา ทำให้ผู้ใช้สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้อย่างง่าย ๆ

 

NAS Server Cloud เก็บข้อมูลอย่างไร

1. ความสะดวกในการใช้งาน

NAS ถือเป็นระบบที่ค่อนข้างเป็นมิตรกับผู้ใช้งาน การติดตั้ง และการตั้งค่าการทำงานได้ค่อนข้างง่าย โดยผู้ผลิตจะทำการติดตั้งซอฟต์แวร์มาให้ใช้งาน แถมยังมีแอพพลิเคชั่นรองรับ ซึ่งเป็นรูปแบบ Plug and Play เพียงแค่เสียบปลั๊กก็สามารถเชื่อมต่อกับเครือข่ายและพร้อมใช้งานเพื่อจัดเก็บไฟล์ หรือมัลติมีเดียเซิร์ฟเวอร์ได้ทันที

 

Server แม้จะมีการตั้งค่าที่ยุ่งยาก ต้องคอยอาศัยผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ แต่ผู้ใช้ก็สามารถปรับแต่งระบบให้ตรงกับความต้องการของงานที่ต้องใช้ได้ดีกว่า ซึ่งแน่นอนว่ารวมไปถึงการปรับแต่ง หรืออัพเกรดฮาร์ดแวร์ในอนาคตที่สามารถทำได้ง่ายกว่าด้วย

 

Cloud เป็นระบบที่มีข้อดีคือเริ่มต้นใช้งานง่าย แถมยังปรับแต่งและเพิ่มขนาดของระบบได้ โดยบริการของ Cloud นั้น จริง ๆ มีหลายระดับ แบบที่ใช้งานง่าย ๆ จะเป็น Google Drive , OneDrive และ Dropbox แต่หากต้องการสร้างระบบที่มีประสิทธิภาพสูง และรองรับการทำงานที่ซับซ้อน จะมีผู้ให้บริการอย่าง AWS และ Azure แต่ในส่วนของการปรับแต่งนั้นจำเป็นต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญด้วยเช่นกัน

 

2. ประสิทธิภาพ

ประสิทธิภาพในการทำงานของ NAS และ Server นั้นจะขึ้นอยู่กับความเร็วของเครือข่าย และปริมาณของข้อมูลที่มีการอัพโหลดหรือดาวน์โหลด ในขณะที่ บริการ Cloud นั้นจะขึ้นอยู่กับความเร็วของอินเทอร์เน็ตเพียงอย่างเดียว ซึ่งโดยปกติแล้ว การอัพโหลดหรือดาวน์โหลดจาก NAS และ Server จะเร็วมากกว่าบริการ Cloud แม้ว่าจะใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงก็ตาม เนื่องจากข้อจำกัดในด้านของ Bandwidth เพื่อป้องกันการจราจรของอินเทอร์เน็ตไม่ให้หนาแน่นเกินไป

หากเป็นการใช้งานภายในที่อุปกรณ์เชื่อมต่อกับ NAS และ Server ผ่านระบบสาย ประสิทธิภาพจะดีกว่าบริการ Cloud อย่างเห็นได้ชัดเจน โดยเฉพาะไฟล์ที่มีขนาดใหญ่ แต่ในกรณีที่เชื่อมต่อจากระยะไกลผ่านอินเทอร์เน็ต การใช้งานผ่านบริการ Cloud จะให้ประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีกว่า

 

3. การสำรองข้อมูล และความมั่นคงของระบบ

การทำ RAID ช่วยให้ข้อมูลในไดร์ฟนั้นปลอดภัยและมั่นคงในการเก็บข้อมูล เพราะหากไดร์ฟไหนเกิดความเสียหายก็จะยังสามารถกู้ข้อมูลให้กลับมาใหม่ได้อีกครั้ง โดย NAS ที่มีช่องเสียบหลายช่อง ส่วนใหญ่จะรองรับการทำ RAID แต่ก็มีข้อเสียคือ ช่องสำหรับเสียบไดร์ฟที่มีจำกัด ซึ่งยังต้องกันพื้นที่บางส่วนไปใช้ในการสำรองข้อมูล ทำให้ความจุพื้นที่ที่มีจำกัดอยู่แล้วนั้นมีน้อยลงไปอีก ในขณะที่การทำ RAID ใน Server จะยืดหยุ่นกว่า เพราะสามารถเพิ่มจำนวนไดร์ฟเสริมเข้าไปในระบบได้

 

แต่หากถามว่าระบบไหนที่การสำรองข้อมูลมีความมั่นคงของระบบทำได้ดีที่สุด ขอตอบเลยว่า ไม่ว่าจะ NAS หรือ Server ก็ไม่สามารถเทียบกับบริการ Cloud ได้เลย ซึ่งผู้ให้บริการ Cloud ส่วนใหญ่จะมีระบบสำรองข้อมูลของลูกค้าเตรียมไว้ให้แล้ว แถมยังมีการรับประกันข้อมูลว่าจะไม่สูญหายให้ด้วย อีกทั้งการโคลนข้อมูลในบริการ Cloud เพื่อสำรองไว้ที่ผู้บริการ Cloud รายอื่น ๆ ก็สามารถทำได้ง่าย ๆ

 

4. ความปลอดภัย

ความปลอดภัยของ NAS และ Server นั้นขึ้นอยู่กับว่าสามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตไว้หรือเปล่า หากทำงานแบบออฟไลน์ภายในบ้าน หรือบริษัทเพียงอย่างเดียว แฮกเกอร์จะไม่สามารถโจมตีได้ แต่ส่วนใหญ่จะทำระบบให้มันออนไลน์ไว้ เพื่อให้คนที่ทำงานนอกสถานที่อย่าง WFH สามารถเชื่อมต่อเข้ามาได้ ความปลอดภัยเลยขึ้นอยู่กับว่า ระบบรักษาความปลอดภัยของระบบอินเทอร์เน็ตที่ NAS และ Server เชื่อมต่ออยู่นั้นเป็นอย่างไร อุปกรณ์ที่ Client ใช้นั้นปลอดภัยหรือเปล่า ส่วน Cloud จะสามารถแบ่งออกเป็น 2 แบบ โดยแบบแรกจะเป็นผู้ให้บริการที่รับผิดชอบความปลอดภัยของเซิร์ฟเวอร์ ส่วนทางผู้ใช้งานจะรับผิดชอบในส่วนของบัญชีและรหัสผ่าน

 

5. ความจุ

จะมีการจำกัดจำนวนของช่องไดร์ฟที่มีฮาร์ดดิสก์ที่ความจุสูงสุดในปี 2022 คือ 22 TB แต่หากเป็น HDD ระดับผู้บริโภคทั่วไปจะมีขนาด 8 TB เท่านั้น ซึ่ง NAS ส่วนใหญ่จะให้มา 6 ช่อง ส่วน Server จะให้มา 16 ช่อง ความจุของ NAS ส่วนใหญ่เลยจะอยู่ที่ 48 TB ขณะที่ Server จะอยู่ที่ 128 TB และในส่วนความจุของ Cloud นั้นจะขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ใช้เองเลย ซึ่งก็อาจเลือกใช้เพียง 10 TB หรือจ่ายเพิ่มเพื่อใช้ความจุระดับ 1,000 TB ก็ได้

 

เปรียบเทียบระหว่าง NAS Server Cloud

  • NAS

    ราคาเริ่มต้นแพง แต่ประหยัดในระยะยาว
    ปลอดภัยและเป็นส่วนตัว สามารถเลือกระบบรักษาความปลอดภัยที่ต้องการได้
    สำรองข้อมูลในไดร์ฟที่ติดตั้งไว้ที่ NAS หรือ Server
    เชื่อมต่อฮาร์ดแวร์เข้ากับระบบเครือข่าย
    การดูแลรักษาปานกลาง

  • Server

    ราคาเริ่มต้นแพง แต่ประหยัดในระยะยาว
    ปลอดภัยและเป็นส่วนตัว สามารถเลือกระบบรักษาความปลอดภัยที่ต้องการได้
    สำรองข้อมูลในไดร์ฟที่ติดตั้งไว้ที่ Server หรือ NAS
    เชื่อมต่อฮาร์ดแวร์เข้ากับระบบเครือข่าย
    การดูแลรักษายาก

  • Cloud

    ราคาไม่แพง แต่ต้องจ่ายทุกเดือน (ระยะยาวต้นทุนอาจสูงกว่า)
    ค่อนข้างปลอดภัย แต่ผู้ใช้จะไม่สามารถควบคุมอะไรได้
    เซิร์ฟเวอร์สำรองข้อมูลให้อัตโนมัติ
    เชื่อมต่อผ่านซอฟต์แวร์
    การดูแลรักษาง่าย

NAS Server Cloud ควรเลือกใช้อะไรดี

หากถามว่าระหว่าง NAS Server Cloud ควรเลือกใช้อะไรดี สิ่งสำคัญที่ต้องนำมาพิจารณาเลยก็คือ มีงบประมาณเท่าไหร่ ต้องการความจุเท่าไหร่ จำนวนผู้ใช้งานในระบบเก็บข้อมูลมีกี่คน และต้องการใช้งานคุณสมบัติเสริมอื่น ๆ หรือไม่ เช่น ระบบกู้ข้อมูล , แดชบอร์ด , แอพพลิเคชั่นเสริม เป็นต้น หลังจากพิจารณาถึงความต้องการแล้ว ให้ลองเปรียบเทียบราคาดูว่าพึงพอใจกับการใช้จ่ายอย่างไร หากคนใช้งานน้อย และไม่ได้ต้องการความจุสูงมากนัก บริการ Cloud ก็น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า ในขณะที่ NAS กับ Server นั้นต้องลงทุนอุปกรณ์ครั้งแรกค่อนข้างแพง และมีค่าเสื่อมที่ต้องเปลี่ยนฮาร์ดไดร์ฟทุก ๆ 3 – 5 ปี อีกด้วย แนะนำให้ลองคำนวณค่าใช้จ่ายดูว่าการใช้งานของเรานั้นจ่ายแบบไหนถึงจะเหมาะสมที่สุด

 

สรุป

ไม่ว่าจะ NAS Server Cloud การใช้งานนั้นก็ขึ้นอยู่กับตัวผู้ใช้เองว่าต้องการใช้งานแบบไหน แต่สิ่งที่สำคัญที่ควรพิจารณาก่อนเลือกมาใช้งาน ควรคำนึงถึงงบประมาณ ความจุ รวมถึงคุณสมบัติอื่น ๆ ด้วยว่าการใช้งานของเรานั้นควรใช้แบบไหนถึงจะเหมาะสมที่สุด อย่างคนที่ใช้งานน้อย และไม่ต้องการความจุที่สูง ระบบ Cloud ถือเป็นตัวเลือกที่ตอบโจทย์ที่สุด

 

* เนื้อหาในบทความอาจมีผิดพลาดได้ โปรดตรวจสอบข้อมูลใหม่อีกครั้ง