บทความข่าวสารไอที

RAM มีความเร็วที่แตกต่างจาก CPU หรือไม่ และสำคัญอย่างไร

RAM มีความเร็วที่แตกต่างจาก CPU หรือไม่ และสำคัญอย่างไร

หากใครที่ต้องการที่จะประกอบคอมพิวเตอร์เอง สิ่งหนึ่งที่ต้องพิจารณาคือ การเลือก RAM ซึ่งนอกจากขนาดของหน่วยความจำหลักแล้ว ยังมีค่าความเร็วที่ต้องใส่ใจด้วย โดยค่าความเร็วนี้จะประกอบไปด้วย ค่าความถี่ (Frequency) และ ค่าการตอบสนอง (CAS Latency) ซึ่งทั้ง 2 ค่านี้ สามารถดูได้จากสเปคของแรม และที่สำคัญคือ ยิ่งแรมมีความเร็วสูงเท่าไหร่ ราคาของมันก็จะสูงขึ้นตามไปด้วยเท่านั้น

 

RAM มีความเร็วที่ต่างจาก CPU หรือไม่

คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่าความเร็วของ RAM คือสิ่งเดียวกับความเร็วของหน่วยประมวลผลกลาง หรือก็คือ CPU นั่นเอง เพราะทั้ง 2 ตัวนี้ ใช้หน่วยวัดเป็นเมกะเฮิรตซ์ (MHz) เช่นเดียวกัน อาทิเช่น ความเร็วของ CPU ที่ 3.6 GHz เท่ากับ 3,600 MHz แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความเร็วของ CPU และแรมนั้นแตกต่างกันอย่างมาก

 

ความเร็วของ CPU หรือหน่วยประมวลผลกราฟิก (GPU) เป็นจำนวนคำสั่งที่สามารถประมวลผลได้ เช่น ความเร็ว 3.6 GHz หมายความว่า CPU สามารถประมวลผลคำสั่งได้ 3,600 ล้านคำสั่งในเวลาเพียง 1 วินาที ส่วน RAM นั้นไม่เกี่ยวข้องกับการประมวลผลคำสั่ง แต่ทำหน้าที่ในการจัดเก็บและส่งข้อมูลที่จำเป็นให้กับ CPU หรือ GPU เพื่อให้สามารถทำงานได้เร็วขึ้น

 

โดย RAM จะทำหน้าที่อยู่หลัก ๆ อยู่ 4 อย่าง ดังนี้

 

  • รับข้อมูลจากฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ (HDD) และอุปกรณ์เก็บข้อมูลอื่น ๆ
  • ส่งข้อมูลไปยัง CPU เพื่อทำการประมวลผล
  • รับผลการประมวลผลจาก CPU
  • ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการรับ-ส่งข้อมูลระหว่างฮาร์ดดิสก์ , การ์ดจอ , ซาวด์การ์ด , พอร์ต USB และอุปกรณ์อื่น ๆ

 

พูดง่าย ๆ ก็คือ RAM เป็นหน่วยความจำกลางที่ทำหน้าที่ในการรับ-ส่งข้อมูลระหว่างฮาร์ดแวร์ต่าง ๆ ภายในระบบคอมพิวเตอร์ โดยอัตราความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูล หรือที่เรียกว่า Bandwidth ของแรมจะเป็นตัวกำหนดว่าแรมสามารถรับ-ส่งข้อมูลได้เร็วแค่ไหน ยิ่งแรมมีความเร็วสูงมากเท่าไหร่ การรับ-ส่งข้อมูลก็จะเร็วขึ้นตามไปด้วย แม้ว่าความเร็วของแรมอาจจะไม่ได้ส่งผลโดยตรงต่อความเร็วของคอมพิวเตอร์ แต่ก็มีผลทางอ้อมที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบ

 

RAM กับค่าความล่าช้า

ความเร็วของ RAM นั้นขึ้นอยู่กับค่า Frequency และ CL โดยค่า Frequency ที่สูงจะทำให้แรมทำงานได้เร็วขึ้น ส่วนค่า CL ที่ต่ำจะดีกว่า เพราะหมายถึงเวลาในการตอบสนองที่เร็วกว่า แม้ว่าค่า Frequency ของแรมจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน แต่ค่า CL ก็มีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน

 

        • Frequency (MHz)

ค่า Frequency นี้จะเกี่ยวข้องกับ Bandwidth ของข้อมูลที่สามารถรับ-ส่งได้ ซึ่งขั้นตอนนี้จะเรียกว่า Clock Cycle โดยหน่วยวัดที่ใช้คือ MHz เช่น หากแรมมีค่า 3600 MHz จะหมายความว่า แรมสามารถรับ-ส่งข้อมูลได้ 3,600,000,000 Cycles ต่อวินาที

 

        • CAS Latency (CL)

ค่า CL เป็นค่าความเร็วที่แรมนั้นสามารถตอบสนองคำสั่งที่เกิดขึ้นระหว่าง Cycles ได้

 

ความเร็วของ RAM กับการเล่นเกม

ในการใช้งานคอมพิวเตอร์ทั่วไป ความเร็วของ RAM อาจไม่ส่งผลมากนักต่อการใช้งานหลัก ๆ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือขนาดของ RAM ที่ต้องเพียงพอต่อการใช้งาน แต่สำหรับการเล่นเกมแล้ว ความเร็วของ RAM มีผลต่อค่า FPS ภายในเกมอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในเกมที่มีการโหลดข้อมูลที่มีจำนวนมาก

 

สายกราฟิกได้ประโยชน์อะไรจากความเร็วของ RAM

ได้มีการทดสอบแล้วพบว่า การตัดต่อวิดีโอและแก้ไขรูปภาพในโปรแกรมต่าง ๆ เช่น Adobe Premiere Pro , Adobe After Effects และ Adobe Photoshop ใช้ประโยชน์จากความเร็วของ RAM ค่อนข้างต่ำ โดยภาระงานหลักจะตกอยู่ที่ CPU และขนาดของแรมมากกว่า อีกทั้งการทำโอเวอร์คล็อกแรมเพื่อเพิ่มความเร็ว อาจทำให้เกิดปัญหาความเสถียรของระบบ ซึ่งหากเทียบกับการเพิ่มประสิทธิภาพที่อาจได้แค่เล็กน้อย ก็ดูเหมือนจะไม่ค่อยคุ้มค่ากับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นเท่าไหร่นัก

 

เคล็ดลับการเลือกซื้อ RAM

ไม่ว่าจะซื้อ RAM ที่มีความเร็วสูงแค่ไหน ฮาร์ดแวร์ส่วนอื่น ๆ ก็ต้องรองรับการทำงานของมันด้วย โดยเฉพาะ CPU และ Mainboard ซึ่งแต่ละรุ่นจะรองรับความเร็วของแรมที่แตกต่างกัน ซึ่งในจุดนี้ ต้องดูสเปคที่สามารถรองรับได้ด้วย เพราะผู้ผลิตจะมีการระบุรายละเอียดไว้ให้อย่างชัดเจนแล้ว

 

สำหรับผู้ใช้ Intel

ในปัจจุบัน เมนบอร์ดที่รองรับ CPU ของ Intel จะมีอยู่ 3 ซีรีส์หลัก ๆ ได้แก่ Z , H และ B โดยเมนบอร์ดซีรีส์ H จะเหมาะสำหรับผู้ใช้ทั่วไป , ซีรีส์ B จะรองรับผู้ที่ใช้งานหนักขึ้น และต้องการพอร์ตเยอะขึ้น และซีรีส์ Z จะเป็นระดับสูงสุดที่มีลูกเล่นมากมายและรองรับการ Overclock

 

และหากต้องการใช้แรมที่มีความเร็วสูงกว่าที่ CPU รองรับ และต้องการให้แรมทำงานที่ความเร็วสูงสุด ต้องใช้เมนบอร์ดที่รองรับ Intel XMP (Extreme Memory Profile) ซึ่งโดยทั่วไปจะพบเห็นในเมนบอร์ดซีรีส์ Z แต่ในปัจจุบันก็มีเมนบอร์ดซีรีส์ B และ H ที่รองรับ Intel XMP ออกมาให้เลือกใช้งานด้วยเช่นกัน

 

สำหรับผู้ใช้ AMD

RAM มีความเร็วที่แตกต่างจาก CPU หรือไม่ และสำคัญอย่างไรXMP เป็นระบบโปรไฟล์ RAM ที่พัฒนาโดย Intel เพื่อให้ผู้ใช้สามารถทำการโอเวอร์คลอก (OC) ได้สะดวก และรับประกันว่าเมื่อ OC แล้วจะทำงานร่วมกับ CPU ของ Intel ได้อย่างไม่มีปัญหา แต่สำหรับผู้ใช้ AMD นั้นก็ยังสามารถทำการ OC ได้ เพียงแต่จะมีความยุ่งยากมากกว่าเล็กน้อย ซึ่งในปัจจุบัน ผู้ผลิตเมนบอร์ดและ BIOS ได้พัฒนาให้รองรับการทำงานร่วมกับโปรไฟล์ XMP ได้ง่ายขึ้นแล้ว อย่าง A-XMP ของ MSI และสำหรับใครที่ยังพบปัญหาการใช้โปรแกรม DRAM Calculator for Ryzen อาจช่วยในการตั้งค่าแรมได้ดีขึ้น

 

สรุป

RAM ที่มีความเร็วสูง สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของคอมพิวเตอร์ได้ โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่เล่นเกม หรือทำงานที่ต้องการการประมวลผลสูง และหากมีงบประมาณจำกัด การเลือกแรมที่มีความเร็วสูงสุดตามที่ CPU รองรับโดยไม่ต้องโอเวอร์คล็อก แล้วนำเงินไปเพิ่มขนาดของแรมหรือลงทุนใน CPU ก่อนอาจคุ้มค่ากว่าในการใช้งานระยะยาว

 

* เนื้อหาในบทความอาจมีผิดพลาดได้ โปรดตรวจสอบข้อมูลใหม่อีกครั้ง