บทความข่าวสารไอที

เครื่องสำรองไฟ ups แหล่งจ่ายพลังงานต่อเนื่อง

เครื่องสำรองไฟ ups แหล่งจ่ายพลังงานต่อเนื่อง

ในยุคที่อุปกรณ์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน เครื่องสำรองไฟ ups จึงเป็นตัวป้องกันไม่ให้ไฟดับหรือไฟกระชาก โดยเฉพาะอุปกรณ์ เช่น กล้องวงจรปิดหรือคอมพิวเตอร์ เป็นต้น เพราะนอกจากจะช่วยป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากปัญหาในเรื่องของไฟฟ้าแล้ว ยังช่วยให้สามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่องได้อีกระยะเมื่อไฟดับกะทันหันอีกด้วย

 

UPS คืออะไร และใช้งานอย่างไร ?

UPS (Uninterruptible Power Supply) คือ อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ถูกออกแบบมาให้มีคุณสมบัติในการจ่ายพลังงานไฟฟ้าให้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ในกรณีที่ไฟดับ หรือเกิดเหตุขัดข้อง หากเครื่องใช้ไฟฟ้าเชื่อมต่อกับ UPS อยู่ เครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านั้นจะยังมีพลังงานไฟฟ้า เพื่อทำงานต่ออีกชั่วคราว หากเกิดไฟดับกระทันหัน อาจทำให้ข้อมูลบางประเภทสูญหายได้ โดย UPS จะสามารถใช้งานร่วมกับเครื่องใช้ไฟฟ้าได้หลายอย่าง แต่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าให้น้อยกว่า หรือเท่ากับความสามารถในการจ่ายพลังงานไฟฟ้าของ UPS ที่ต่ออยู่นั่นเอง

 

ตัวอย่างการใช้งาน UPS

  1. บ้าน : ใช้สำรองไฟให้กับคอมพิวเตอร์ , เครื่องพิมพ์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ
  2. ออฟฟิศ : ใช้ สำรองไฟให้กับเซิร์ฟเวอร์ , อุปกรณ์เครือข่าย และอุปกรณ์ทางการแพทย์
  3. โรงงานอุตสาหกรรม : ใช้สำรองไฟให้กับเครื่องจักร , อุปกรณ์ควบคุมการผลิต และระบบอัตโนมัติ

ประเภทของ ups มีอะไรบ้าง

แม้การทำงานของ usp จะดูเข้าใจง่าย แต่เชื่อว่ายังมีอีกหลาย ๆ คนยังเข้าใจว่า ups ทุกรุ่นนั้นทำงานได้เหมือนกัน แท้จริงแล้ว ups จะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้

    • Offline UPS หรือ Standby UPS
      เป็น ups ขนาดเล็ก เคลื่อนย้ายได้ง่าย และทำงานไม่ซับซ้อน มักนำมาใช้งานในบ้านเพื่อสำรองเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่ว ๆ ไป เครื่องสำรองไฟประเภทนี้จะมีระยะการสำรองไฟไม่มาก แถมยังไม่เป็นที่นิยมอีกด้วย เนื่องจากหากเกิดความขัดข้องทางไฟฟ้า เช่น ไฟตกหรือไฟเกิน อุปกรณ์จะไม่สามารถแก้ปัญหาทางไฟฟ้าได้
    • Online Protection UPS หรือ Line Interactive UPS
      เป็น ups ที่นิยมนำมาใช้งานทั้งในบ้านและในบริษัท เพราะนอกจากจะสำรองไฟได้แล้ว ยังมีส่วนช่วยปรับแรงดันไฟฟ้าได้อัตโนมัติ เพื่อช่วยป้องกันไฟตก ไฟเกิน หรือไฟกระชาก จะไม่สามารถจัดการเรื่องความถี่ได้ ไม่เหมาะนำมาใช้งานกับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไวต่อการทำงานของกระแสไฟฟ้า เช่น เครื่องมือแพทย์ หรือเครื่องจักรบางชนิด
    • True Online UPS (Double Conversion)
      เป็น ups ที่มีคุณสมบัติช่วยป้องกันปัญหาด้านไฟฟ้าแบบรอบด้าน สามารถใช้งานกับเครื่องใช้ไฟฟ้าได้ทุกประเภท เหมาะกับอุปกรณ์ที่ไวต่อความแปรปรวนของไฟฟ้า จะมีขนาดที่ค่อนข้างใหญ่ และมีระบบการติดตั้งการใช้งานที่ค่อนข้างซับซ้อน รวมถึงราคาที่ค่อนข้างสูงอีกด้วย

วิธีการเลือกเครื่องสำรองไฟ UPS

1. เลือกประเภทของ UPS ให้เข้ากับการใช้งาน

ups มีการแบ่งประเภทออกมาเพื่อให้เหมาะกับการใช้งานที่แตกต่างกัน ดังนั้น ก่อนที่จะนำ ups มาใช้ ควรพิจารณาถึงคุณสมบัติ , ความต้องการด้านพลังงาน , ระยะเวลาสำรองไฟ และงบประมาณ เพื่อให้ตอบโจทย์และเหมาะสมกับความต้องการมากที่สุด

 

2. ตรวจสอบกำลังไฟฟ้าจริง (W) และกำลังไฟฟ้าปรากฏ VA

หน่วยกำลังไฟฟ้าจริง (W) และกำลังไฟฟ้าปรากฏ (VA) 2 จะช่วยให้ตัดสินใจเลือก UPS มาใช้งานได้ง่ายมากขึ้น สำหรับ W หรือกำลังไฟฟ้าจริง เป็นค่าที่เกิดจากแรงดันไฟฟ้า (V) คูณกับกระแสไฟฟ้า (A) ผลลัพธ์ที่ได้จะเท่ากับ W ดังนั้น การตรวจสอบกำลังไฟในเครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึง UPS สามารถทำได้โดยดูว่าเครื่องใช้ไฟฟ้านั้น ๆ ได้ระบุว่ามีกำลังไฟกี่วัตต์ และหากต้องการตรวจเช็คว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ทำงานนั้นใช้พลังงานเท่าไหร่ ให้นำวัตต์คูณกับชั่วโมงที่ใช้งาน เช่น

 

ตัวอย่าง : หากใช้คอมพิวเตอร์ 500 วัตต์ นาน 10 ชั่วโมง จะเท่ากับใช้กำลังไฟไป 5,000 วัตต์ โดย 1,000 วัตต์ จะถูกเรียกเป็น 10 กิโลวัตต์ หากใช้คอมพิวเตอร์ 5 ชั่วโมง พลังงานที่ใช้จะเท่ากับ 50 กิโลวัตต์ / ชั่วโมง

 

3. เลือกจากลักษณะการปล่อยกระแสไฟฟ้าของเครื่องสำรองไฟ ups

ups จะปล่อยกระแสไฟฟ้าออกมาในลักษณะของคลื่น โดยปัจจุบันมักพบลักษณะของคลื่นอยู่ 2 ลักษณะ ดังนี้

    • Pure Sine Wave
      Pure Sine Wave เป็นคลื่นสัญญาณไฟฟ้าที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ลักษณะของคลื่นประเภทนี้จะเข้ากันได้กับเครื่องใช้ไฟฟ้า หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด เหมาะกับอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไวต่อไฟฟ้า เช่น เซิร์ฟเวอร์ , เครื่องมือแพทย์ และระบบอัตโนมัติ คลื่นสัญญาณลักษณะนี้จะทำหน้าที่ได้อย่างลื่นไหล จะไม่ค่อยพบปัญหาจากการทำงานมากนัก
    • Modified Sine Wave
      Modified Sine Wave เป็นคลื่นสัญญาณที่ทำงานในแบบสี่เหลี่ยมขั้นบันได อุปกรณ์ที่ใช้คลื่นในลักษณะนี้จะมีราคาที่ถูกกว่า เหมาะกับอุปกรณ์ไฟฟ้าทั่วไป เช่น คอมพิวเตอร์หรือเครื่องพิมพ์ ไม่เหมาะหากนำมาใช้งานกับอุปกรณ์ที่มีความไวต่อสภาวะไฟฟ้าที่สูง เพราะความสเถียรของคลื่นมีไม่มากพอ

4. ตรวจสอบระยะเวลาที่เครื่องสำรองไฟ UPS สามารถสำรองได้

การนำ ups มาใช้งาน ควรเลือกตัวที่มีกำลังไฟที่มากกว่าอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อ จากนั้นทดลองนำกำลังไฟ (W) จากตัวอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อมาหารด้วยกำลังไฟจากตัว UPS จากนั้นคูณด้วย 60 นาที ค่าที่ได้จะเป็นช่วงเวลาโดยประมาณที่ UPS สามารถจ่ายพลังงานไฟฟ้าให้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นนั้น ๆ ให้ใช้งานได้

 

5. ตรวจสอบจำนวนช่องเสียบจ่ายไฟ

ups หลายรุ่นจะมีช่องเสียบจ่ายไฟมากกว่าหนึ่งช่อง ซึ่งจะช่วยให้เชื่อมต่ออุปกรณ์ไฟฟ้าได้มากขึ้น แต่ต้องระวังให้มากกว่าปกติ เพราะยิ่งช่องเสียบจ่ายไฟมีมาก การจ่ายพลังงานจาก UPS ไปยังแต่ละอุปกรณ์จะถูกลดลงไปด้วย

 

6. ตรวจสอบฟังก์ชันอื่น ๆ เพิ่มเติม

การนำ ups มาใช้งาน ควรพิจารณาฟังก์ชั่นต่าง ๆ เพิ่มเติม เพราะฟังก์ชั่นเหล่านี้จะช่วยในเรื่องของการใช้งาน และความปลอดภัยระหว่างใช้งาน ups ได้เป็นอย่างดี

    • ระบบแจ้งเตือนเมื่อแบตใกล้หมด หรือเสื่อมสภาพ
    • ระบบป้องกันไฟกระชาก และไฟฟ้าลัดวงจร

อายุการใช้งานของแบตเตอรี่ UPS

อายุการใช้งานของแบตเตอรี่ในเครื่อง ups โดยทั่วไปจะขึ้นอยู่กับการใช้งานและการดูแลรักษา ดังนี้

    • แบตเตอรี่ตะกั่วกรดแบบปิด (Sealed Lead Acid – SLA) จะมีอายุการใช้งานเฉลี่ย 3-5 ปี
    • แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน (Lithium Ion) จะมีอายุการใช้งานเฉลี่ย 5-10 ปี

 

การใช้งานในที่ที่มีความร้อนสูง หรือใช้งานหนัก อาจทำให้แบตเตอรี่เสื่อมสภาพเร็วขึ้นได้ แนะนำให้ควรเปลี่ยนแบตเตอรี่เพื่อให้แน่ใจว่า UPS นั้นสามารถสำรองไฟในกรณีฉุกเฉินได้ การตรวจเช็คแบตเตอรี่อย่างสม่ำเสมอ และทำความสะอาดอุปกรณ์ จะช่วยยืดอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ให้ยาวนานขึ้น

วิธีการดูแลรักษาเครื่องสำรองไฟ UPS

การดูแลรักษาเครื่อง ups สามารถทำได้ง่าย ๆ ให้ตรวจเช็คสถานะของแบตเตอรี่เพื่อให้แน่ใจว่าแบตเตอรี่ยังมีประสิทธิภาพ และควรทดสอบการทำงานของ ups อย่างน้อยทุก ๆ 6 เดือน โดยการจำลองเหตุการณ์ให้ไฟฟ้าดับเพื่อดูว่า ups นั้นสามารถสำรองไฟได้ตามที่คาดหวังหรือไม่ นอกจากนี้ ควรเปลี่ยนแบตเตอรี่เพื่อป้องกันการเสื่อมสภาพที่อาจส่งผลต่อการทำงาน และตรวจเช็คการระบายความร้อนของ ups เพื่อป้องกันการเกิดความร้อนที่สูงจนเกินไป เพราะอาจทำให้อุปกรณ์นั้นเสียหายได้

 

ข้อควรระวัง

  • ไม่ควรเปิดฝาครอบ ups ขณะที่เครื่องกำลังทำงาน
  • ไม่ควรใช้ ups เกินกำลังไฟที่ระบุ
  • ไม่ควรต่ออุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีมอเตอร์เข้ากับ ups

สรุป

แม้ว่าหลาย ๆ คนจะเข้าใจว่า เครื่องสำรองไฟ ups คืออุปกรณ์ที่ช่วยในเรื่องของการใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ แต่จริง ๆ แล้ว ตัว ups นั้นถือเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าในอีกรูปแบบหนึ่งเช่นกัน ดังนั้น หากใช้งานไม่ถูกวิธีก็อาจทำให้เกิดอันตราย หรือความเสียหายต่อเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ทำการต่อพ่วงได้ ที่สำคัญ การนำ ups มาใช้งาน ควรจัดวางในจุดที่อากาศถ่ายเท ไม่โดนน้ำหรือความชื้น และควรจัดการกับสายไฟให้เป็นระเบียบ เพราะหากสายถูกวางในจุดที่ไม่เหมาะสมอาจทำให้ประสิทธิภาพของตัว ups ลดลง

 

* เนื้อหาในบทความอาจมีผิดพลาดได้ โปรดตรวจสอบข้อมูลใหม่อีกครั้ง