USB Type-C เป็น พอร์ต เชื่อมต่อข้อมูลที่ได้รับความนิยม และใช้งานอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็น สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ค หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ อีกมากมาย ผู้ใช้อาจเคยเห็นว่ามักมีตัวเลขหรือข้อความกำกับอยู่ท้ายชื่อ และบนช่องเชื่อมต่อจะมีสัญลักษณ์ต่าง ๆ เชื่อว่าหลายคนคงสงสัยว่าหมายถึงอะไร ในบทความนี้เราจะมาพูดเกี่ยวกับ USB Type-C ว่าคืออะไร มีแบบไหนบ้าง พร้อมบอกถึงข้อดีในการใช้งาน
USB Type-C คืออะไร ?
USB Type-C คือ หัวเชื่อมต่อ USB รูปแบบหนึ่งที่ถูกออกแบบมาให้ใช้งานสะดวกและง่ายกว่าหัวเชื่อมต่อ USB Type-A หรือ Type-B โดยตัวอักษร C หมายถึง ลักษณะทางกายภาพของหัวเชื่อมต่อชนิดนี้ ซึ่งมีรูปทรงแบน และมุม 2 ข้างซ้าย-ขวาโค้งเข้าหากัน โดยจะมีจุดเด่นสำคัญคือ สามารถเสียบใช้งานด้านไหนก็ได้ โดยไม่มีปัญหาในเรื่องของการเสียบผิดด้านที่มักเกิดบ่อย ๆ ใน USB Type-A และ Type-B นอกจากนี้ยังมีอัตราการส่งข้อมูลที่เร็วขึ้นกว่ารุ่นก่อนหน้าอีกด้วย
USB Type-C มีกี่แบบ
มาดูกันว่า USB Type-C นั้นมีกี่แบบ และแต่ละแบบมีการใช้งานอย่างไรบ้าง
-
-
-
USB Type-C แบบทั่วไป
-
-
USB Type-C แบบทั่วไป เป็นพอร์ตพื้นฐานที่มีคุณสมบัติหลักในการรับ-ส่งข้อมูล และรองรับการจ่ายกระแสไฟฟ้าที่มีกำลังวัตต์ไม่สูงมาก นิยมใช้งานในสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต โน้ตบุ๊ค และคอมพิวเตอร์ โดยความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูลจะขึ้นอยู่กับเวอร์ชั่นที่ผู้ผลิตเลือกใช้ เช่น สายชาร์จ Type-C
-
-
-
USB Type-C แบบ PD
-
-
USB Type-C แบบ PD (Power Delivery) มีคุณสมบัติหลักในการรองรับการรับ-ส่งข้อมูลเหมือนกับ USB Type-C แต่จะสามารถจ่ายไฟสูงกว่า โดยจุดสังเกตของพอร์ตชนิดนี้คือ สัญลักษณ์ PD หรือรูปถ่าน / ปลั๊กไฟระบุชัดเจน ซึ่งปัจจุบัน USB Type-C แบบ PD ได้พัฒนาถึงเวอร์ชั่น 3.1 แล้ว รองรับแรงดันไฟฟ้าสูงสุด 48 V รองรับกระแสไฟฟ้าสูงสุด 5A และรองรับกำลังไฟฟ้าสูงสุด 240 W พอร์ตชนิดนี้จะนิยมใช้โน้ตบุ๊คใหม่ ๆ ที่ต้องการความเร็วในการชาร์จแบตเตอรี่ ไม่จำเป็นต้องมีช่องชาร์จไฟแบบปกติก็ได้
-
-
-
USB Type-C แบบ DP
-
-
USB Type-C แบบ DP (DisplayPort) เป็นพอร์ตที่รองรับการรับ-ส่งข้อมูลเช่นเดียวกับ USB Type-C ทั่วไป แต่จะเพิ่มความสามารถในการส่งสัญญาณภาพไปยังจอแสดงผล ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้สาย HDMI แยกอีกเส้น โดยพอร์ตชนิดนี้จะมีสัญลักษณ์รูปตัว D หรือหน้าจอคอมพิวเตอร์ระบุไว้บนพอร์ต เพื่อแสดงถึงการรองรับสัญญาณภาพ ปัจจุบันพอร์ต USB Type-C แบบ DP ยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก และมักพบในโน๊ตบุ๊คที่มีราคาแพงและสเปคสูงเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดด้าน Bandwidth ที่ทำให้รองรับสัญญาณภาพได้ไม่สูงเท่าพอร์ต HDMI แต่บางรุ่นที่ราคาสูงมาก ๆ พอร์ตชนิดนี้จะรองรับการชาร์จไฟได้ด้วย
-
-
-
Thunderbolt
-
-
Thunderbolt คือเทคโนโลยีการเชื่อมต่อที่มีความเร็วสูง ซึ่งรวมคุณสมบัติของพอร์ต USB Type-C ทั้ง 3 ประเภท ไว้ในพอร์ตเดียวกัน โดยจะมีรูปร่างเหมือนกับ USB Type-C และมีสัญลักษณ์รูปสายฟ้าระบุไว้ให้เห็น ในปัจจุบันได้พัฒนาไปถึงเจเนอเรชั่นที่ 4 ซึ่งรองรับการถ่ายโอนข้อมูลที่ความเร็ว 40 Gbps การแสดงผลภาพ 4K ที่ 60 fps การเชื่อมต่อกับเครือข่าย 10 Gigabit Ethernet และสามารถชาร์จไฟได้สูงสุดถึง 100 W ด้วยคุณสมบัติที่หลากหลายนี้ ทำให้ Thunderbolt ได้รับความนิยมในอุปกรณ์รุ่นใหม่ ๆ อย่างคอมพิวเตอร์ , โน๊ตบุ๊ค , จอภาพ หรืออุปกรณ์เก็บข้อมูลแบบพกพา เป็นต้น
ตัวเลข USB Type-C แต่ละเวอร์ชั่น
โดยปกติแล้ว ผู้ผลิตอุปกรณ์มักระบุตัวเลขเวอร์ชั่นของพอร์ต USB อย่างชัดเจน เช่น USB 2.0 , 3.0 , 3.1 และ 3.2 ซึ่งตัวเลขเหล่านี้จะบอกถึงมาตรฐานความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูลที่กำหนดโดย USB Implementers Forum หน่วยงานที่ดูแล และพัฒนาข้อกำหนดต่าง ๆ ของเทคโนโลยี USB สำหรับ USB Type-C นั้นเริ่มมีมาตั้งแต่เวอร์ชั่น 2.0 แล้ว และเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นในเวอร์ชั่น 3.0 เป็นต้นมา ปัจจุบันจะเป็นยุคของเวอร์ชั่น 3.2
ข้อดีของ USB Type-C
- มีขนาดเล็กและแบน ใช้พื้นที่น้อยกว่า USB Type-A และ Type-B ทำให้สามารถออกแบบให้อุปกรณ์มีความบางได้มากกว่า
- สามารถสลับเสียบด้านไหนก็ได้ เสียบผิดด้านก็ไม่มีปัญหา แถมยังใช้งานสะดวกและยืดหยุ่นกว่า
- รองรับโปรโตคอลได้หลากหลายรูปแบบ เช่น ถ่ายโอนข้อมูล ส่งสัญญาณภาพและเสียง จ่ายกระแสไฟฟ้า เป็นต้น
- มีอัตราการส่งข้อมูลที่สูงกว่า USB Type-A และ Type-B
สรุป
พอร์ตแต่ละแบบจะมีการใช้งานที่ต่างกันออกไป ซึ่งในแต่ละพอร์ตล้วนถูกพัฒนามาเพื่อความสะดวกแก่ผู้ใช้ และลดความซับซ้อนและจำนวนของสายสัญญาณ ทำให้ไม่ยุ่งยากในการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่าง ๆ เข้าด้วยกัน และ USB Type-C จะกลายมาเป็นพอร์ตเชื่อมต่อหลักในไม่ช้า และคาดว่าจะได้รับการพัฒนาต่อเนื่องไปอีกหลายเวอร์ชั่นในอนาคต
* เนื้อหาในบทความอาจมีผิดพลาดได้ โปรดตรวจสอบข้อมูลใหม่อีกครั้ง