เซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหว เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย ซึ่งรวมไปถึง การรักษาความปลอดภัย ด้วย หลายคนอาจสงสัยว่าตัวเซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหวมันทำงานยังไง และเพราะอะไรถึงสามารถช่วยเตือนภัยอันตรายต่าง ๆ ให้เราได้ วันนี้เราจะพามาทำความรู้จักกับหนึ่งในเครื่องมือที่สำคัญของระบบเตือนภัยกัน อ่านจบรับรองว่าหายสงสัยกันอย่างแน่นอน
เซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหว คืออะไร ?
เซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหว (Motion Sensor) คือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ออกแบบมาเพื่อให้รับรู้การเคลื่อนไหวทางกายภาพของสิ่งมีชีวิต มักใช้งานในระบบรักษาความปลอดภัยภายในบ้านหรือธุรกิจ เพื่อเฝ้าระวังการบุกรุก โดยตัวเซ็นเซอร์จะทำหน้าที่ปล่อยเซ็นเซอร์ออกไปยังพื้นที่ที่กำหนดไว้ หากตรวจจับความเคลื่อนไหวได้ ตัวเครื่องจะแปลงเป็นสัญญาณไฟฟ้า จากนั้นจะส่งต่อไปยังซอฟต์แวร์ เพื่อประมวลผลและดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
เซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหว ทำงานยังไง ?
เซนเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหว ส่วนใหญ่มักจะเป็นแบบระบบฝังตัว (Embedded System) โดยจะประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่ เซนเซอร์ , ซอฟต์แวร์ และฮาร์ดแวร์
เซนเซอร์ประเภทนี้จะทำงานโดยตรวจสอบความเคลื่อนไหวในพื้นที่ที่กำหนด หากพบเจอการเคลื่อนไหว ระบบจะทำการแปลงเป็นสัญญาณไฟฟ้าไปยังซอฟต์แวร์เพื่อประมวลผล จากนั้นระบบจะส่งการแจ้งเตือนไปที่ศูนย์รับข้อมูลที่ตั้งค่าไว้ เช่น แอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน หรือศูนย์ควบคุมของผู้ให้บริการ
ประเภทของเซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหว
เซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหวที่นิยมใช้ในปัจจุบัน สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท และแต่ละประเภทจะมีหลักการทำงานที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้
1. Passive Infrared Sensors (PIR)
เป็นเซ็นเซอร์ที่ใช้แสงอินฟาเรดในการตรวจจับความร้อนภายในร่างกายของสิ่งมีชีวิตขณะเคลื่อนที่ โดยเซ็นเซอร์ประเภทนี้จะถูกนำไปใช้ อาทิเช่น สวิตช์เปิด-ปิดไฟอัตโนมัติหากมีคนเดินผ่าน รวมถึงในระบบความปลอดภัยสำหรับตรวจจับผู้บุกรุกสถานที่ หรือเซ็นเซอร์ประตูทางเข้า-ออก
2. Ultrasonic
เป็นเซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหว โดยตรวจวัดการสะท้อนของคลื่นอัลตราโซนิกที่ปล่อยออกไป ในขณะที่มีวัตถุเคลื่อนที่ โดยเซ็นเซอร์ประเภทนี้จะถูกนำไปใช้สำหรับเครื่องควบคุมระยะไกล , เครื่องตรวจวัดระดับน้ำ หรือใช้ตรวจจับความหนาของวัตถุในการผลิต เป็นต้น
3. Microwave
จะมีหลักการทำงานคล้าย ๆ กับอัลตราโซนิก แต่จะปล่อยคลื่นไมโครเวฟออกมาแทน ในปัจจุบัน เซ็นเซอร์ประเภทนี้จะถูกนำมาใช้กับประตูอัตโนมัติ โดยเฉพาะพื้นที่บริเวรณกว้างอย่างประตูทางเข้า
รัศมีการตรวจจับของเซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหว
- รัศมีการตรวจจับในแนวตั้ง จะอยู่ที่ประมาณ 2.5 เมตร – 12 เมตร (ขึ้นอยู่กับอุปกรณ์)
- รัศมีการตรวจจับในแนวนอน จะอยู่ที่ประมาณ 14.6 เมตร – 30.5 เมตร (ขึ้นอยู่กับอุปกรณ์)
สรุป
เซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหว มีบทบาทสำคัญในระบบรักษาความปลอดภัย โดยจะทำหน้าที่ตรวจจับการเคลื่อนไหวของสิ่งมีชีวิต และส่งสัญญาณแจ้งเตือนมาที่ตัวเครื่องหากพบผู้บุกรุก ซึ่งจะช่วยให้เจ้าของพื้นที่รับรู้สถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว และสามารถรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดได้ทันท่วงที
* เนื้อหาในบทความอาจมีผิดพลาดได้ โปรดตรวจสอบข้อมูลใหม่อีกครั้ง