บทความข่าวสารไอที

เมนบอร์ด คืออะไร ทำงานยังไง และควรเปลี่ยนเมื่อไหร่

เมนบอร์ด คืออะไร ทำงานยังไง และควรเปลี่ยนเมื่อไหร่

เมนบอร์ด มีหน้าที่ในการควบคุมการทำงานต่าง ๆ ของอุปกรณ์ที่ต้องเชื่อมต่อเข้ามาอีกที เป็นอุปกรณ์ที่ไม่สามารถขาดไปได้เลย เพราะหากขาดเมนบอร์ดไป คอมพิวเตอร์จะไม่สามารถทำงานได้ ซึ่งในปัจจุบัน คอมพิวเตอร์ได้มีการถูกใช้งานอยู่ทั่วไป ไม่ว่าจะใช้งานที่บ้านเพื่อความบันเทิง หรือใช้งานในสำนักงานหรือองค์กรต่าง ๆ รวมถึงวงการสตรีมเมอร์ ที่ส่วนใหญ่จะเลือกประกอบคอมพิวเตอร์ใช้งานเอง เพื่อให้ได้สเปคคอมพิวเตอร์ที่ตรงกับความต้องการ

 

เมนบอร์ด คืออะไร มีหน้าที่ทำอะไร ?

เมนบอร์ด คือ แผงวงจรหลักที่ได้รวบรวมเอาส่วนประกอบต่าง ๆ ที่สำคัญต่อการทำงานของคอมพิวเตอร์ไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น CPU , RAM , GPUs , HDD และ SSD รวมถึงพอร์ตต่าง ๆ ที่มากับตัวเมนบอร์ดให้เราได้เลือกเชื่อมต่อ ดังนั้น หากต้องการเลือกซื้อคอมพิวเตอร์ที่พร้อมใช้งานสักเครื่อง หรือต้องการซื้อเมนบอร์ดเพื่อนำไปประกอบคอมพิวเตอร์เอง ควรรู้ถึงความสำคัญและวิธีการเลือกซื้อเมนบอร์ดด้วย เพราะหากไม่มีเมนบอร์ด หรือเมนบอร์ดเกิดชำรุด คอมพิวเตอร์จะไม่สามารถทำงานได้เลย เพราะเมนบอร์ดเป็นส่วนสำคัญที่เชื่อมต่อกับระบบทั้งหมดของคอมพิวเตอร์ และยังควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ต่าง ๆ อีกด้วย

 

ส่วนประกอบหลักบนเมนบอร์ดจะมีหน้าที่ดังต่อไปนี้

  • Socket เป็นช่องที่ใช้สำหรับติดตั้ง CPU ที่ตรงกับชนิดของ CPU ที่เลือกใช้งาน
  • Chipset เป็นส่วนประกอบสำคัญที่เปรียบเหมือนสมองของคอมพิวเตอร์ โดยชิปเซ็ตบนเมนบอร์ดจะทำหน้าที่ควบคุมการทำงานระหว่างอุปกรณ์ต่าง ๆ
  • RAM Slots ช่องสำหรับใส่ RAM (เมนบอร์ดแต่ละรุ่นจะมีจำนวนช่องที่ไม่เท่ากัน)
  • PCI Express Slots ช่องสำหรับใส่การ์ดเสริม เช่น การ์ดจอ หรือการ์ดเสียง
  • SATA Ports พอร์ตสำหรับเชื่อมต่อฮาร์ดดิสก์หรือ SSD
  • USB Ports พอร์ต USB ที่ใช้เชื่อมต่ออุปกรณ์ USB
  • Form Factor ขนาดของเมนบอร์ด เช่น ATX , Micro ATX หรือ Mini ITX

ซึ่งการเลือกเมนบอร์ดนั้นจะมีสิ่งที่ต้องคำนึงอยู่หลายประการ เช่น การรองรับการติดตั้งกับอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จะเข้ามาเชื่อมต่อกับเมนบอร์ด , สามารถ Support CPU แบบไหนบ้าง , สามารถใช้ RAM ได้กี่ Slot , มี Port SATA หรือ M.2 เพื่อรองรับการติดตั้ง SSD M.2 หรือไม่ และตัวของเมนบอร์ดมีพอร์ตอะไรบ้าง จำนวนกี่พอร์ต ไม่ว่าจะเป็น USB เวอร์ชันต่าง ๆ HDMI พอร์ต หรือพอร์ต LAN (RJ45) เป็นต้น

 

เมนบอร์ดมีกี่ขนาด

เมนบอร์ด หรือ Motherboard ในคอมพิวเตอร์ จะมีด้วยกันอยู่หลายขนาด โดยจะแยกประเภทตามขนาดของเครื่อง ซึ่งปกติแล้วจะมีด้วยกันอยู่หลายขนาดเลย และสำหรับรุ่นที่นิยมใช้ในปัจจุบันจะมีทั้งหมด 3 ขนาด ดังนี้

 

ATX ขนาด 244 x 305 mm.

เมนบอร์ด คืออะไร ทำงานยังไง และควรเปลี่ยนเมื่อไหร่ATX หรือ Standard ATX (Advanced Technology Extended) เป็นเมนบอร์ดขนาดใหญ่ประมาณ 305 x 244 mm. (12 x 9.6 In) มี Expansion Slot หลายช่อง ไม่ว่าจะเป็น SSD M.2 ได้มากกว่า 1 ตัว มี PCI Express มากกว่าชนิดอื่น ทำให้รองรับการติดตั้ง PCI Card ได้หลายใบพร้อมกัน เช่น การ์ดจอ มากกว่า 1 ใบ , การ์ดเสียง และการ์ดแลน เป็นต้น ซึ่งเมนบอร์ดแบบ ATX จะอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ เช่น Workstation และคอมประกอบแบบ Full Tower

 

Micro ATX ขนาด 244 x 244 mm.

เมนบอร์ด คืออะไร ทำงานยังไง และควรเปลี่ยนเมื่อไหร่Micro-ATX (Micro Advanced Technology Extended) เป็นรุ่นที่มีขนาดกลาง ๆ จะไม่ใหญ่มาก ประเมาณ 244 x 244 mm. (9.6 x 9.6 In) ถือเป็นรุ่นที่นิยมนำมาใช้งานเป็นอันดับแรก ๆ เลยก็ว่าได้ เนื่องจากเป็นขนาดที่เหมาะสำหรับติดตั้งในเคสคอมพิวเตอร์แบบ Micro Tower , Mini Tower และ Small Form Factor (SFF)

 

Mini ITX ขนาด 170 x 170 mm.

เมนบอร์ด คืออะไร ทำงานยังไง และควรเปลี่ยนเมื่อไหร่Mini-ITX (Mini Information Technology Extended) เป็นเมนบอร์ดขนาดเล็กประมาณ 170 x 170 mm. (6.7 x 6.7 In) มักถูกติดตั้งกับคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก อย่างแบบพวก Mini PC หากเป็นเครื่องคอมประกอบจะใช้สำหรับเคสเล็ก ๆ

 

ควรเปลี่ยนเมนบอร์ดเมื่อไหร่

โดยปกติแล้ว เมนบอร์ดไม่ใช่อุปกรณ์ที่ต้องคอยเปลี่ยนบ่อย ๆ เว้นแต่จะเกิดความเสียหาย หรือใช้งานไม่ได้เนื่องจากตกรุ่น ไม่รองรับฮาร์ดแวร์ใหม่ เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพของ RAM หรือการติดตั้งอุปกรณ์เสริมเพิ่มเติมในอนาคต นอกจากนี้ ความเสียหายของเมนบอร์ดอาจเกิดขึ้นจากการระบายอากาศที่ไม่เพียงพอ ซึ่งอุณหภูมิที่สูงเกินไปสามารถทำให้เมนบอร์ดเกิดความเสียหายได้ ดังนั้น การติดตั้งเมนบอร์ดควรตรวจสอบระบบรายอากาศให้ดีก่อน

 

วิธีการเลือกใช้งานเมนบอร์ด

การเลือกซื้อเมนบอร์ดสำหรับนำมาประกอบคอมพิวเตอร์ หรือเลือก PC ที่มีสเปคของเมนบอร์ดที่ต่างกัน ควรรู้วิธีการเลือกซื้อต่อไปนี้

 

1. ตรวจสอบเมนบอร์ดให้เข้ากับ CPU Chipset และ CPU Socket

Chipset เป็นวงจรสำคัญบนเมนบอร์ดที่ทำหน้าที่ควบคุมการสื่อสารระหว่าง CPU , RAM , การ์ดจอ และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่เชื่อมต่อกับเมนบอร์ด เพื่อให้การทำงานร่วมกันของฮาร์ดแวร์มีประสิทธิภาพ สำหรับ Chipset ที่เหมาะสำหรับเล่นเกม กลุ่มเกมเมอร์จะนิยมรุ่นที่สามารถ Overclocking และรองรับการ์ดจอแบบ Crossfire หรือ SLI

 

ในขณะที่ Socket จะมีไว้สำหรับติดตั้งชิป CPU เป็นหลัก โดย Socket บนเมนบอร์ดแต่ละรุ่นจะรองรับการใช้งานร่วมกับ CPU ที่ต่างรุ่นกันออกไป ในปัจจุบันจะพบว่า Socket ของ CPU จะแยกออกเป็น 2 แบบ ได้แก่ แบบ LGA หรือ Land Grid Array ที่มีลักษณะของเข็มยื่นออกมาจากตัวเมนบอร์ดโดยตรง ซึ่ง CPU ที่นำมาใช้งานด้วยจะต้องมีลักษณะเป็นแผ่นเรียบ จะสังเกตว่า Socket ประเภทนี้จะเหมาะกับ CPU จาก Intel มากกว่า ในขณะที่ Socket อีกประเภทจะเรียกว่า PGA หรือ Pin Grid Array ที่มีลักษณะเป็นแผ่นเรียบ มักนำมาใช้งานกับ CPU ที่มีขา Socket ประเภทนี้จึงเหมาะกับ CPU ของทางฝั่ง AMD แทน นอกจากนี้ Socket บางประเภทยังสามารถทำการต่ออุปกรณ์เสริมได้หรือใช้งานร่วมกับใช้งานเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่าง USB-C , Thunderbolt และ Wi-Fi 6E ซึ่ง Socket ลักษณะนี้จะเหมาะกับผู้ที่ต้องการใช้คอมพิวเตอร์ในการทำงานหนัก หรือใช้เล่นเกมมากกว่า

 

2. เลือกเมนบอร์ดขนาด ATX หรือ Micro ATX (สำหรับเกมเมอร์)

ในปัจจุบัน เมนบอร์ดจะมีให้เลือกใช้งานด้วยกันหลากหลายขนาด แต่แบบที่พบเห็นทั่วไปจะมีแบบ Mini ITX , Micro ATX , ATX และ E-ATX ซึ่งแต่ละขนาดจะมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันออกไปดังนี้

      • Mini-ITX เป็นเมนบอร์ดขนาดเล็กที่สุด ทำให้มีจำนวน Socket ที่น้อยกว่าเมนบอร์ดที่มีขนาดใหญ่
      • Micro ATX สามารถใช้ได้กับเคสเกือบทุกรุ่น จะมี Slot RAM 2 – 4 Slot และมีให้เลือกค่อนข้างหลากหลายแบรนด์ นับว่าเป็นเมนบอร์ดที่ได้รับความนิยมสูงอีกชนิดหนึ่ง
      • ATX เป็นเมนบอร์ดที่มีขนาดมาตรฐาน และมีให้เลือกซื้อด้วยกันหลายรุ่น สามารถใส่การ์ดจอได้มากกว่า 1 ตัว และมีจำนวน Socket มาก (เป็นชนิดที่นิยมใช้งานมากที่สุด)
      • E-ATX (Extended ATX) เป็นเมนบอร์ดที่มีขนาดใหญ่กว่าแบบ ATX มีจุดเด่นคือ พื้นที่สำหรับช่องใส่ฮาร์ดแวร์ที่มากกว่าเมนบอร์ดประเภทอื่น ๆ

สำหรับเกมเมอร์ที่กำลังมองหาเมนบอร์ด การเลือกใช้เมนบอร์ดขนาด Micro ATX หรือ ATX ถือเป็นตัวเลือกที่เหมาะสม เนื่องจากทั้ง 2 ขนาด จะมีพื้นที่รองรับการติดตั้งฮาร์ดแวร์สำหรับเล่นเกมอย่าง GPU หรือ RAM ได้มากขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้ยังสามารถติดตั้งอุปกรณ์เสริมได้มากขึ้น และแม้ว่าเมนบอร์ดทั้ง 2 ขนาด จะติดตั้งฮาร์ดแวร์ได้หลายชิ้น แต่ขนาดของเมนบอร์ดก็สามารถติดตั้งในเคสที่มีขนาดมาตรฐานได้ เพิ่มความสะดวกในการเลือกใช้งานได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะเลือกใช้งานเมนบอร์ดแบบ Micro ATX หรือ ATX ฮาร์ดแวร์ที่นำมาใช้งานร่วมก็จะต้องมีศักยภาพที่เพียงพอต่อการเล่นเกมด้วย

 

3. หากต้องอัพเกรดในอนาคต ให้เลือกเมนบอร์ดที่มี 4 Slot RAM

Slot RAM เป็นช่องที่ใช้ใส่และเชื่อมต่อ RAM บนเมนบอร์ด เพื่อให้ระบบสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งโดยทั่วไปสำหรับคนที่ต้องการประหยัดงบ และไม่ได้อัพเดตคอมพิวเตอร์บ่อย ๆ สามารถใช้ 2 Slot RAM หรือเมนบอร์ดที่มีช่องเสียบแรม 2 ช่องได้ แต่หากใครที่ต้องการความคุ้มค่าสำหรับการใช้งานในระยะยาว แนะนำให้ให้เลือกเมนบอร์ดที่มี 4 Slot RAM เพื่อติดตั้ง RAM เพิ่มเข้าไปได้ หากต้องการอัพเกรดคอมพิวเตอร์ในอนาคต นอกจากนี้อาจต้องคำนึงถึงชนิดของ RAM ด้วยว่าเมนบอร์ดนั้นรองรับการติดตั้ง RAM ชนิดใด และความจุสูงสุดที่สามารถติดตั้งได้อยู่ที่เท่าไหร่

 

การเลือก Slot RAM ควรพิจารณาประเภทของแรมที่ต้องการใช้งาน (DDR3 , DDR4 , DDR5) และความสามารถในการรองรับขนาดและความเร็วของแรม โดยดูจากข้อมูลของเมนบอร์ด เช่น ความจุสูงสุดที่รองรับ , จำนวน Slot RAM และความเร็วสูงสุดที่สามารถรองรับได้ เพื่อลดปัญหาการใช้งานในภายหลัง ที่สำคัญ ไม่ควรฝืนใช้ RAM ที่ไม่ตรงกับ Slot เพราะอาจทำให้เมนบอร์ดและ Slot เกิดความเสียหายได้ ดังนั้น การนำ RAM มาติดตั้งบนเมนบอร์ดด้วยตัวเองต้องระมัดระวังในส่วนนี้ให้ดี

 

4. ตรวจสอบประเภทพอร์ตเชื่อมต่อให้เข้ากับการใช้งาน

พอร์ตเชื่อมต่อ อาจเป็นสิ่งที่หลายคนมองข้าม ซึ่งแท้จริงแล้ว พอร์ตก็ถือเป็นส่วนประกอบสำคัญของเมนบอร์ดที่ไม่ควรมองข้าม เพราะพอร์ตทำหน้าที่เชื่อมต่อกับอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ นอกเครื่องคอมพิวเตอร์ เช่น Port USB , Serial Port และ LAN Port นอกจากนี้ แต่ละพอร์ตแม้จะทำหน้าที่เหมือนกัน แต่อาจมีความเร็วที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น เมนบอร์ดรุ่นใหม่ ๆ จะมี Port USB 3.2 ที่สามารถใช้งาน USB Type-C ได้ ทำให้ใช้งานสะดวก หรือเมนบอร์ดที่เป็น HDMI Output และ Display Port Output จะสามารถใช้งานได้หลายจอ เป็นต้น

 

การตรวจสอบพอร์ตจะช่วยให้เลือกใช้งานเมนบอร์ดได้ง่ายมากขึ้น เพราะช่วยประเมินได้ว่าเมนบอร์ดนี้สามารถเชื่อมต่อกับอะไรได้บ้าง และสำหรับเหล่าเกมเมอร์ยิ่งต้องพิจารณาส่วนนี้มากเป็นพิเศษ เพราะพอร์ตเหล่านี้จะช่วยให้เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ภายนอกได้สะดวก ดังนั้น ควรเลือกเมนบอร์ดที่มีพอร์ต USB 3.0, USB 3.1 , USB Type – C , HDMI , Ethernet Port และการ์ดจอเสริม เพื่อให้สามารถติดตั้งและใช้งาน Gaming Accessories ได้อย่างไม่ติดขัด

 

5. ฟังก์ชั่นเสริมต่าง ๆ

เมนบอร์ดบางรุ่นอาจมีคุณสมบัติการระบายความร้อนเพิ่มมาด้วย เพื่อช่วยให้การทำงานของเมนบอร์ดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่มีความร้อนสะสมมากจนเกินไป ฟังก์ชั่นนี้จะช่วยให้ฮาร์ดแวร์ชิ้นสำคัญอย่าง CPU หรือการ์ดจอสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่เกิดความเสียหาย หลายคนอาจมองว่าสามารถติดตั้งพัดลมเพิ่มภายหลังได้ แต่การที่เมนบอร์ดมีพัดลมระบายอากาศในตัวจะช่วยให้การถ่ายเทความร้อนภายในเคสทำได้ดีขึ้น ช่วยถนอมไม่ให้อุปกรณ์ภายในเกิดความเสียหาย และช่วยยืดอายุการใช้งานได้ยาวนานมากกว่าเดิม

      • เพิ่มความเร็วให้ CPU หรือ RAM ด้วยโอเวอร์คล็อก

การ โอเวอร์คล็อก มักมาในรูปแบบของเมนบอร์ดแบบ ATX ที่จะเพิ่มคุณสมบัติโอเวอร์คล็อกเข้ามา เพื่อช่วยสนับสนุนการเพิ่มความเร็วให้กับ CPU หรือ RAM ให้ทำงานได้เกินประสิทธิภาพกว่าปกติ เหมาะสำหรับเหล่าเกมเมอร์เป็นอย่างมาก เพราะจะช่วยให้เล่นเกมได้อย่างลื่นไหล อย่างไรก็ตาม คุณสมบัติโอเวอร์คล็อกนั้นจะส่งผลต่ออุปกรณ์บนบอร์ดเช่นกัน ดังนั้น หากต้องการใช้การทำงานในรูปแบบโอเวอร์คล็อก ควรตรวจสอบเรื่องระบบระบายความร้อนให้ดี เพื่อช่วยกำจัดความร้อนที่เกิดจากการทำงานของอุปกรณ์บนเมนบอร์ดแต่ละชิ้นด้วย

 

สรุป

หวังว่าคนที่อ่านบทความนี้จบแล้วจะเข้าใจมากขึ้นว่า เมนบอร์ด คืออะไร มีหน้าที่ทำอะไร แต่ก็เชื่อว่ายังมีอีกหลายคนที่เข้าใจว่า CPU และการ์ดจอนั้นสำคัญที่สุดสำหรับทำงาน แต่แท้จริงแล้ว อุปกรณ์ทุกชิ้นต่างก็สำคัญ เพราะมีหน้าที่ในการทำงานต่างกัน โดยเฉพาะเมนบอร์ด ที่ทำหน้าที่ในการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน และประมวลผลร่วมกันกับการทำงานของ CPU และการ์ดจอ

 

* เนื้อหาในบทความอาจมีผิดพลาดได้ โปรดตรวจสอบข้อมูลใหม่อีกครั้ง