บทความข่าวสารไอที

สิ่งที่ไม่ควรทำกับเครื่อง UPS พร้อมวิธียืดอายุการใช้งาน

สิ่งที่ไม่ควรทำกับเครื่อง UPS พร้อมวิธียืดอายุการใช้งาน

UPS หรือ เครื่องสำรองไฟฟ้า (Uninterruptible Power Supply) มีหน้าที่จ่ายไฟสำรองฉุกเฉินให้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าอย่างคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ต่อพ่วงชนิดต่าง ๆ เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องเวลาไฟดับ ไฟตก ไฟกระชาก หรือปัญหาที่เกี่ยวกับกระแสไฟฟ้า ซึ่งในส่วนของตรงนี้ก็ถือว่าเป็นข้อดี เพราะทำให้เราสามารถเซฟหรือบันทึกงานที่สำคัญ ๆ ได้โดยที่งานไม่สูญหาย อีกทั้งยังทำให้มีเวลาในการปิดอุปกรณ์ เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจตามมาได้ ซึ่งเครื่อง UPS ก็มีให้ได้เลือกหลากหลายขนาดตามลักษณะการใช้งาน และในบทความนี้เราจะมาพูดถึงสิ่งที่ไม่ควรทำกับเครื่อง UPS ว่ามีอะไรบ้าง พร้อมบอกถึงวิธีการใช้เพื่อยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์ให้เพื่อน ๆ ได้ทราบโดยทั่วกัน

 

สิ่งที่ไม่ควรทำกับเครื่อง UPS

ส่วนใหญ่ เครื่อง UPS จะมีอายุการใช้งานไม่เกิน 3 ปี ต้องบอกก่อนตรงนี้ว่า ขึ้นอยู่กับการใช้งานของแต่ละคนด้วย ในส่วนของแบตเตอรี่นั้น หากแบตเตอรี่เสื่อมสภาพ แนะนำให้เปลี่ยนใหม่ หรืออาจต้องซื้อเครื่องใหม่เลย ทั้งนี้ทั้งนั้น การที่แบตเตอรี่เสื่อมสภาพ ซึ่งจะช้าหรือเร็ว รวมถึงใช้งานอย่างไรให้คงทนยาวนานนั้น ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาด้วย และสิ่งที่ไม่ควรทำกับเครื่อง UPS จะมีด้วยกันดังนี้

 

1. ไม่ควรวางเครื่อง UPS ในมุมอับ

เครื่อง UPS เป็นอุปกรณ์ที่ต้องระบายเอาความร้อนออกมา การนำไปวางในมุมอับ ที่ชื้น บริเวณที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก บริเวณที่โดนแสงแดด หรือบริเวณที่มีอุณหภูมิความร้อนสูง อาจส่งผลให้เครื่อง UPS ร้อนและทำให้ระบบรวนเสียหายได้

 

2. ไม่ควรวางเครื่อง UPS ในบริเวณที่มีฝุ่น

การนำเครื่อง UPS วางในบริเวณที่มีฝุ่น อาจทำให้ฝุ่นเข้าไปเกาะแผงวงจรภายในเครื่อง หรือเกาะแผงป้องกันความร้อนจนทำให้เครื่องร้อนสะสมได้ หากเครื่องระบายความร้อนได้ไม่ดีก็ส่งผลให้เครื่องรวน หรือแบตเตอรี่เสื่อมสภาพเร็วได้เช่นกัน แนะนำให้เช็ดทำความสะอาดตัวเครื่องบ่อย ๆ ด้วยผ้าแห้ง หรือแปรงที่มีขนนุ่ม ๆ เพื่อไม่ให้ฝุ่นเกาะรอบเครื่อง

 

3. ไม่ควรใช้งานกับอุปกรณ์ไฟฟ้าบางประเภท

ไม่ควรนำเครื่อง UPS ใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ไฟฟ้าบางประเภทที่กินไฟค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับความร้อน เช่น เครื่องทำความร้อน เพราะจะทำให้เครื่องทำงานหนักจนเกินไป ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาตามมาได้ เช่น แบตเตอรี่เสื่อม หรือเครื่อง UPS เกิดความเสียหาย เป็นต้น

 

4. ไม่ควรต่อพ่วงกับอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เกินกำหนด

อย่างที่ทราบกันดีว่า เครื่อง UPS นั้นมีหลายประเภท หลายขนาด ให้ได้เลือกตามลักษณะการใช้งานที่เหมาะสม หากนำอุปกรณ์ไฟฟ้าบางประเภทมาต่อพ่วงผ่านเครื่องสำรองไฟจนเกินกำลัง หรือเกิดการโอเวอร์โหลดขึ้นมา เครื่อง UPS อาจตัดการทำงาน และทำให้ไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพได้ เช่น ไม่สามารถจ่ายไฟสำรองในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน ส่งผลให้อุปกรณ์เสียหาย เป็นต้น

 

5. ไม่ควรซ่อม ดัดแปลง หรือแก้ไขเอง

เครื่อง UPS หากใช้งานเป็นเวลานานก็อาจรวน หรือเกิดเหตุขัดข้อง เป็นเรื่องปกติ อย่าพยายามซ่อมหรือแก้ไขเอง เพราะอาจทำให้แผงวงจรภายในตัวเครื่องเสียหายมากกว่าเดิม ยิ่งหากอยู่ในช่วงประกัน จะทำให้เงื่อนไขการรับประกันนั้นสิ้นสุดลง แนะนำให้รีบติดต่อทางศูนย์บริการเพื่อให้เจ้าหน้าที่หรือผู้เชี่ยวชาญนั้นเป็นผู้ดูแลจะดีกว่า

 

วิธีการใช้งานเครื่อง UPS เพื่อยืดอายุการใช้งาน

หากไม่อยากให้เครื่อง UPS เสื่อมสภาพหรือเสียหาย ควรศึกษาวิธีการใช้งานเพื่อยืดอายุในการใช้งานให้อยู่ได้ยาว ๆ ดังนี้

 

1. อ่านคู่มือก่อนใช้งาน

ก่อนที่เราจะใช้งานไม่ว่าอะไรก็ตาม ควรศึกษาคู่มือก่อนใช้งานเสมอ เพราะในคู่มือจะบอกถึงรายละเอียด รวมถึงข้อห้ามในการใช้งานต่าง ๆ ระบุไว้ และยังอธิบายถึงปุ่มต่าง ๆ ที่อยู่บนตัวเครื่องว่ามีหน้าที่ทำอะไรอีกด้วย

 

2. ตำแหน่งในการวางเครื่อง UPS

ตำแหน่งในการวางเครื่อง UPS บอกเลยว่าสำคัญมาก เพราะตำแหน่งที่วางจะส่งผลต่อตัวเครื่อง ซึ่งตำแหน่งที่ควรวางเครื่อง UPS ควรเป็นที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ไม่ควรให้โดนแสงแดด หรืออยู่ในบริเวณที่มีอุณหภูมิที่สูงจนเกินไป

 

3. หมั่นคอยทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ

เครื่อง UPS นั้น หากไม่เคยทำความสะอาดเลย จะส่งผลให้ฝุ่นหรือสิ่งสกปรกต่าง ๆ ไปอุดตันพัดลมระบบความร้อนของตัวเครื่อง ทำให้ตัวเครื่องไม่สามารถระบายความร้อนออกมาได้

 

4. ใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้าให้ถูกประเภท

เครื่อง UPS นั้น ไม่ได้เหมาะกับการใช้งานกับอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกประเภท ซึ่งอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่ควรใช้งานกับเครื่อง UPS จะเป็นประเภทที่ทำความร้อนต่าง ๆ เพราะอุปกรณ์ไฟฟ้าเหล่านั้นจะใช้กำลังไฟที่ค่อนข้างสูง หากเครื่อง UPS จ่ายไฟเยอะขึ้น จะส่งผลทำให้อายุการใช้งานของตัวเครื่องนั้นลดลงตามไปด้วย

 

สรุป

ความจริงแล้ว เครื่อง UPS ไม่ได้มีไว้เพื่อสำรองไฟเวลาทำงานขณะไฟดับ แต่เป็นเพียงแค่การทำงานในระยะเวลาสั้น ๆ เพื่อจ่ายไฟฟ้าเท่านั้น ควรศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูลรายละเอียดให้ชัดเจนก่อนใช้งาน และที่สำคัญ ควรหมั่นคอยตรวจเช็คสภาพแบตเตอรี่ของเครื่อง UPS ตามคำแนะนำอย่างน้อยเดือนละครั้ง เพื่อให้การใช้งานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

 

* เนื้อหาในบทความอาจมีผิดพลาดได้ โปรดตรวจสอบข้อมูลใหม่อีกครั้ง