บทความข่าวสารไอที

SSD มีกี่แบบ แตกต่างจาก HDD อย่างไร ?

เป็นที่รู้กันดีว่า SSD นั้นสามารถอ่าน-เขียนไฟล์ หรือข้อมูลต่าง ๆ บนคอมพิวเตอร์ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งก็อาจมีหลายคนที่ประสบพบเจอกับเครื่องคอมพิวเตอร์หรือแล็ปท็อป ที่คัดลอกหรือเขียนไฟล์ได้ช้า โดยเฉพาะกับไฟล์ขนาดใหญ่หรือมีจำนวนมาก และต้องใช้เวลานานถึงจะจัดการงานเหล่านั้นเสร็จ โดยสาเหตุอาจมากจากเครื่องคอมพิวเตอร์หรือแล็ปท็อปยังใช้ฮาร์ดดิสก์ (HDD) ที่เป็นแบบจานหมุนอยู่ ทำให้มีประสิทธิภาพในการอ่าน-เขียนข้อมูลที่จำกัด

 

SSD แตกต่างจาก HDD อย่างไร ?

SSD และ HDD เป็นอุปกรณ์สำหรับจัดเก็บข้อมูลภายในคอมพิวเตอร์หรือแล็ปท็อป จะแตกต่างกันตรงที่ SSD จะทำหน้าที่จัดเก็บข้อมูลในหน่วยความจำแฟลช ส่วน HDD จะทำหน้าที่เก็บข้อมูลในจานแม่เหล็ก ซึ่ง SSD จะมีขนาดที่เล็กกว่า โดยเฉพาะแบบพกพาที่มีขนาดเล็กและเบากว่า HDD ถึง 2 เท่า นอกจากนี้ SSD ยังสามารถประมวลผล และโอนถ่ายข้อมูลที่เร็วกว่า HDD ซึ่ง HDD จะเน้นสำหรับการใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ในการจัดเก็บไฟล์ข้อมูลจำนวนมาก แต่ SSD จะเน้นในเรื่องของความเร็วในการประมวลผลขณะใช้งานโปรแกรมต่าง ๆ ร่วมด้วย

 

SSD ตอบโจทย์ในเรื่องของการถ่ายโอนข้อมูลที่รวดเร็ว เนื่องจากใช้หน่วยความจำแฟลชในการจัดเก็บข้อมูล ทำให้สามารถโอนถ่ายข้อมูลด้วยความเร็วที่มากกว่า HDD ถึง 2 เท่า ซึ่งจะมีราคาที่แพงกว่า ส่วน HDD จะตอบโจทย์ในเรื่องของความจุในการถ่ายโอนข้อมูลมากกว่าความเร็ว ในราคาที่ต่ำกว่า โดยจะเขียนข้อมูลลงดิสก์โดยตรง ซึ่งทำให้การโอนถ่ายข้อมูลนั้นช้าลง และโดยทั่วไปแล้ว SSD จะมาพร้อมพื้นที่จัดเก็บข้อมูลขนาด 1 TB หรือ 2 TB ในขณะที่ HDD จะมาพร้อมความจุที่สูงกว่าด้วยขนาด 4 TB และ 5 TB

 

SSD มีกี่แบบ อะไรบ้าง

ประเภทอินเทอร์เฟซของ SSD สามารถแบ่งออกได้ 3 ประเภท ดังนี้

 

1. SATA III

SATA III ลักษณะจะคล้ายกับตลับสี่เหลี่ยมขนาด 2.5 นิ้ว รูปร่างจะคล้ายกับ HDD มีน้ำหนักเบา สามารถเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์หรือแล็ปท็อปได้ทันที โดยผ่านสล็อตการเชื่อมต่อแบบ SATA ส่วนความเร็วในการอ่าน-เขียนสูงสุดจะอยู่ที่ 600 MB/s

 

2. M.2 SATA

ความหนาของ M.2 SATA ได้ถูกลดลงให้มีลักษณะที่คล้ายกับ RAM โดยจะมีหลากหลายขนาดให้ได้เลือกใช้ สามารถเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์หรือแล็ปท็อปได้ โดยต่อเข้ากับอินเทอร์เฟซ PCIe สำหรับ SSD บนเมนบอร์ด สามารถใช้งานได้เลย และขนาดที่คนนิยมใช้ในปัจจุบันจะกว้าง 22 mm. ยาว 80 mm. ส่วนความเร็วในการอ่าน-เขียนสูงสุดจะเท่ากับ SSD ชนิด SATA III อยู่ที่ 600 MB/s จะต่างกันที่ขนาด

 

3. M.2 NVMe PCIe

M.2 NVMe PCIe เป็นเทคโนโลยีใหม่ของ SSD ที่มีรูปร่างหน้าตาและขนาดเหมือนกับ SATA III M.2 ทุกอย่าง แต่วิธีการเชื่อมต่อจะต่างกัน เพราะใช้เทคโนโลยีการเชื่อมต่อที่ถูกออกแบบมาเพื่อ SSD ชนิดนี้โดยเฉพาะ อย่าง NVM Express (NVMe) จะอาศัยการรับ-ส่งข้อมูลผ่านสล็อตการเชื่อมต่อแบบ PCIe โดยมีสายแลนในการบอกถึงความเร็วสูงสุด หรือสัญลักษณ์ตัวคูณที่ตามหลัง PCle ที่มีตั้งแต่ x1 , x2 , x4 , x8 และ x16 ส่งผลให้การโอนถ่ายข้อมูลมีความเร็วที่สูงกว่าสองชนิดแรกมาก

 

ปัจจุบัน M.2 NVMe PCIe ที่ถูกนำไปวางจำหน่าย สามารถแบ่งเป็น Gen2 , Gen3 , Gen4 และ Gen5 แบบ x4 ได้ดังนี้

 

  • NVMe Gen2 x4 ความเร็วในการโอนถ่ายข้อมูลอยู่ที่ 2,200 MB/s
  • NVMe Gen3 x4 ความเร็วในการโอนถ่ายข้อมูลอยู่ที่ 4,000 MB/s
  • NVMe Gen4 x4 ความเร็วในการโอนถ่ายข้อมูลอยู่ที่ 8,000 MB/s
  • NVMe Gen5 x4 ความเร็วในการโอนถ่ายข้อมูลอยู่ที่ 15,000 MB/s

วิธีการเลือกซื้อ SSD

ก่อนทำการติดตั้ง SSD ควรตรวจสอบคอมพิวเตอร์หรือแล็ปท็อปที่ใช้ก่อนว่ารองรับ SSD แบบไหนบ้าง รวมทั้งคำนึงถึงความจุสำหรับเก็บข้อมูลต่าง ๆ เพื่อให้สามารถเลือกซื้อ SSD ได้อย่างถูกต้อง และเหมาะสมกับลักษณะการใช้งานมากที่สุด

 

1. เลือก SSD M.2 NVMe PCIe 4.0 หรือ 5.0 ความจุ 1 TB – 2 TB (สำหรับเล่นเกม หรือ Streaming เกม)

สำหรับคนที่ต้องการ SSD เพื่อเล่นเกมที่ใช้คอมพิวเตอร์สเปกสูงอย่างเกม Action จะต้องใช้กราฟิกที่สูงมากเป็นพิเศษ หากสเปคคอมไม่แรงพอ บอกเลยว่าเล่นไม่ได้ และอาจทำให้กระตุก ซึ่งปัจจุบัน เกมประเภทนี้จะแฝงในเกมประเภทอื่นด้วย เช่น เกม ARPG ไปจนถึงเกมแนวแข่งรถ ส่วนอีกแนวจะเป็นเกมยิงเกือบทุกประเภท (FPS , Battle Royals) เกมประเภทนี้จะกินสเปกคอมที่ค่อนข้างสูง เพราะแผนที่ค่อนข้างกว้าง ไฟล์ใหญ่ รายละเอียดเยอะ และอาจมีการดาวน์โหลดทรัพยากรเพิ่ม หรือแพทช์เสริมหลังจากติดตั้งเสร็จ ซึ่งหลาย ๆ เกมจะใช้พื้นที่เกิน 20 GB ต้องใช้ระยะเวลาในการโหลด

 

หากอยากดาวน์โหลดเกมได้อย่างรวดเร็ว และเพิ่มอรรถรส รวมถึงประสิทธิภาพระหว่างเล่นเกม หรือ Streaming เกม ได้อย่างไม่มีสะดุด แนะนำให้เลือก SSD M.2 NVMe PCIe 4.0 หรือ 5.0 ที่มาพร้อมความเร็วในการอ่านข้อมูลสูงสุด 5,000 MB/s และความเร็วในการเขียนข้อมูลสูงสุด 3,000 MB/s

 

สำหรับความจุ 1 TB สามารถเก็บไฟล์ได้ดังนี้

 

  1. ขนาดของเกมจะอยู่ที่ 10 GB – 100 GB ต่อเกม สามารถจัดเก็บเกมได้ประมาณ 10 เกม – 100 เกม
  2. ไฟล์ 4K 60 fps ความยาว 1 นาที จะใช้พื้นที่ประมาณ 0.9 GB (สำหรับสตรีมเมอร์ที่ต้องการจัดเก็บไฟล์วิดีโอเพื่อใช้งานภายหลัง)

2. เลือก SSD M.2 NVMe PCIe 3 ขึ้นไป ความจุ 500 GB – 1 TB (สำหรับงานกราฟฟิกหรือตัดต่อ)

SSD M.2 NVMe PCIe 3 ขึ้นไป เหมาะสำหรับคนที่ทำงานด้านกราฟิกหรือตัดต่อ เพราะมีพื้นที่ในการจัดเก็บไฟล์งานของวิดีโอขนาดใหญ่ และใช้งานแอพพลิเคชั่นในการตัดต่อที่หลากหลาย มาพร้อมความเร็วในการอ่านข้อมูลสูงสุด 2,000 MB/s และความเร็วในการเขียนข้อมูลสูงสุด 1,000 MB/s ซึ่งจะช่วยเพิ่มความเร็วและประสิทธิภาพระหว่างการตัดต่อ สามารถเปิดแอพพลิเคชั่นหนัก ๆ ที่ต้องใช้เวลาในการประมวลผลได้ทันที และยังช่วยลดเวลาแฝง รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพของระบบประมวลผลโดยรวมสำหรับใช้งานทั่วไปแบบไม่ติดขัดอีกด้วย

 

สำหรับความจุ 1 TB สามารถเก็บไฟล์ได้ดังนี้

 

  1. ไฟล์รูปจากกล้องดิจิตอล 20 ล้านพิกเซล จะมีขนาดสูงสุด 10 MB สามารถจัดเก็บภาพถ่ายได้ 100,000 รูป
  2. ไฟล์วิดิโอ 4K 60 fps ความยาว 1 นาที จะใช้พื้นที่ประมาณ 0.9 GB

3. เลือก SSD SATA III หรือ M.2 SATA ความจุ 500 GB (สำหรับใช้งานทั่วไป)

ใช้สำรับทำงานทั่วไป อย่างเรียน , ดูหนัง , ฟังเพลง หรือจัดเก็บข้อมูล โดยไม่ต้องการประสิทธิภาพของเครื่องมากนัก เพียงแค่เพิ่มความเร็วในการใช้งานทั่วไป เช่น เปิด Windows หรือเปิดและบันทึกไฟล์ต่าง ๆ ได้เร็วขึ้น แนะนำให้เริ่มจากความจุที่ 500 GB สำหรับใช้งานทั่วไป เช่น จัดเก็บข้อมูลทั่วไป File Microsoft Word / Excel รูปภาพจำนวนไม่มาก และไม่เน้นเก็บ File Video หรือ File ที่มีขนาดใหญ่มาก แต่หากต้องการ SSD สำหรับเก็บไฟล์หนัง หรือไฟล์วิดีโอจำนวนมาก แนะนำที่ความจุ 1 TB ขึ้นไป เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ

 

4. เลือก SSD แบบพกพาที่สามารถเสียบกับพอร์ต USB ได้ (เน้นใช้งานง่าย)

สำหรับคนที่ใช้วิธีในการเก็บข้อมูลแบบลง External เป็นประจำ อาจรู้สึกได้ถึงความช้าในการนำข้อมูลลง HDD หรือถ่ายข้อมูลจาก HDD ลงคอมพิวเตอร์หรือแล็ปท็อป จะใช้ Flash Drive ก็เก็บข้อมูลได้ไม่เยอะ แถมยังไม่ค่อยเป็นที่นิยมเท่าไหร่สำหรับการนำไปเก็บข้อมูล มีโอกาสที่ไฟล์จะเสียง่ายอีก

 

5. ตรวจสอบเมนบอร์ดของ PC หรือแล็ปท็อปว่ารองรับ SSD หรือไม่

การตรวจสอบเมนบอร์ดของ PC หรือแล็ปท็อปว่ารองรับ SSD หรือไม่นั้นก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญก่อนซื้อมาใช้งาน เพราะหากเมนบอร์ดของเครื่องไม่รองรับ SSD ก็จะไม่สามารถใช้งานได้ แต่หากเมนบอร์ดสามารถใช้งานได้ ก็ต้องดูอีกว่าควรเลือก Gen ไหนมาใช้ ซึ่งวิธีที่ง่ายที่สุดคือให้ดูที่ Device Manager ว่า SSD ของเดิมใช้อะไร แล้วนำรุ่นของเดิมไปเสิร์ชหาว่าเป็นประเภทไหน

 

สรุป

SSD กับ HDD จะมีหน้าที่เดียวกัน นั่นก็คือ บันทึกข้อมูลสำหรับคอมพิวเตอร์ แต่จะต่างกันที่ SSD จะมีความเร็วในการอ่าน-เขียนข้อมูลที่สูงกว่า HDD หลายเท่า มีน้ำหนักเบา แถมกินไฟน้อย จะมีอายุการใช้งานที่สั้นกว่า HDD ส่วน HDD นั้นจะมีความเร็วในการอ่าน-เขียนข้อมูลต่ำ แต่จะสามารถเก็บความจุได้เยอะ ในราคาที่ไม่แพง จะไม่มีขีดจำกัดในการเขียนทับข้อมูล ทำให้สามารถเก็บข้อมูลได้อย่างยาวนาน

 

* เนื้อหาในบทความอาจมีผิดพลาดได้ โปรดตรวจสอบข้อมูลใหม่อีกครั้ง